8 เรื่องสำคัญที่ควรรู้ ก่อนใช้บริการ Self-Publishing

694 จำนวนผู้เข้าชม  | 

8 เรื่องสำคัญที่ควรรู้ ก่อนใช้บริการ Self-Publishing

เป็นอีกครั้งที่ คุณจารุวรรณ เวชตระกูล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์วิช และกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิช กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด ได้มีโอกาสแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการวางแผนมีผลงานหนังสือด้วยตนเอง ผ่านทางรายการ Nopadol's Story Podcast เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นตอนที่มีประโยชน์มาก สำหรับคนที่มีความฝันอยากมีผลงานหนังสือเป็นของตัวเอง แต่ติดว่าไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ต้องมีงบเท่าไหร่ ต้องทำอย่างไร วันนี้สำนักพิมพ์วิช ถอดบทสนทนา ออกมาเป็นสาระสำคัญ ๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนได้มีผลงานหนังสือเป็นของตัวเองกันสักเล่มค่ะ

ความแตกต่างระหว่างการออกหนังสือกับสำนักพิมพ์ กับการลงทุนจัดพิมพ์หนังสือเอง

ถ้าย้อนหลังไป 10 กว่าปีที่ผ่านมา สำนักพิมพ์ทุกค่าย โดยเฉพาะค่ายใหญ่ ค่อนข้างจะเปิดกว้างในการรับพิจารณาต้นฉบับ เราจะเห็นว่าหน้าร้านเต็มไปด้วยหนังสือใหม่  แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน หนังสือบางหมวดก็หายไป สำนักพิมพ์เริ่มคัดเลือกต้นฉบับ คัดเลือกนักเขียนกันมากขึ้น

ดังนั้นกลุ่มคนที่มีความฝันอยากจะมีหนังสือ ก็เริ่มมองแล้วว่าจะไปทางไหนดี ทางเลือกที่เรียกว่า Self-Publishing คือลงทุนพิมพ์หนังสือด้วยตัวเองจึงเกิดขึ้น ข้อดีของการลงทุนพิมพ์หนังสือเอง คือการสร้างโอกาส ในการนำเสนอผลงานเขียนสู่สาธารณะด้วยการจัดการและวางแผนของเจ้าของผลงานเอง

 


สำหรับคนที่อยากพิมพ์หนังสือเอง ควรเริ่มต้นอย่างไรดี

คนที่อยากพิมพ์หนังสือเอง จากประสบการณ์สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม 1.กลุ่มผู้บริหาร  2.กลุ่มคนมีของ (มีเรื่องพร้อมแบ่งปัน)  3.กลุ่มคนมีความฝันอยากมีผลงานหนังสือสักเล่มในชีวิต  กลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ กลุ่มคนมีฝัน ดังนั้นสิ่งที่อยากจะแนะนำก็คือ พิจารณาตัวเองให้ชัดเจนก่อน ว่าอยากทำหนังสือแนวไหน ซึ่งจุดนี้จะเชื่อมโยงกับเรื่องของการตลาดว่า สิ่งที่เราอยากจะทำ กับสิ่งที่ตลาดต้องการ มันสอดคล้องกันไหม หลายคนอยากทำ พอทำออกมาแล้วขายไม่ได้เลย ไม่เป็นไปตามที่ฝันไว้ เพราะตลาดยังไม่ได้ต้องการหนังสือแนวนั้นในเวลานี้ จากความฝันก็จะกลายเป็นความผิดหวังในที่สุด

ส่วนกลุ่มคนที่ขอแค่ได้ทำตามความฝันคือมีผลงานหนังสือ เรื่องขาดทุน กำไร ไม่สำคัญ ขอแค่มีหนังสือสักเล่มหนึ่ง กลุ่มนี้ก็จะ ไม่ผิดหวัง และถือว่า การออกหนังสือได้สำเร็จแล้ว ตามเป้าหมายที่วางไว้  กลุ่มนี้ก็ไม่น่าเป็นห่วง ดังนั้นช่วงแรกที่คุยกัน ก็จะเน้นถามเรื่องนี้เลย ว่าวัตถุประสงค์ของการมีผลงานหนังสือคืออะไร ?

สำหรับคนที่อยากพิมพ์หนังสือเอง และต้องการรายได้ ต้องการกำไรด้วย กลุ่มนี้ต้องดูว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องใดหรือไม่ ได้ทำการบ้านมาก่อนหรือไม่ หรือมีเพจ หรือฝึกเขียนบล็อก เพื่อพิสูจน์ตัวเอง ว่ามีคนยอมรับ หรือมีลูกค้ามากพอ จนแน่ใจว่า ออกหนังสือมา แฟนเพจซื้อส่วนหนึ่ง นักเขียนขายได้ส่วนหนึ่ง ส่วนหน้าร้านเป็นการสร้าง Personal Brand ของตนเอง และขยายโอกาสที่จะเข้ามา แบบนี้หนังสือถึงจะตอบโจทย์

ต้องมีคนติดตามเพจเท่าไร ถึงจะมั่นใจได้ว่า ออกหนังสือมาแล้วน่าจะมีคนซื้อ

จำนวนคนติดตามเพจส่วนมากดูกันที่ 20,000 คนขึ้นไป และดูว่ามีแฟนเพจติดตามพูดคุยสอบถามในเพจเราอย่างสม่ำเสมอไหม ถามเยอะมาก จนขี้เกียจตอบ หนังสือก็คือคำตอบที่ดี อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ มีคนเชิญไปบรรยายเรื่องที่เราเชี่ยวชาญอยู่เสมอไหม โดยเฉพาะท่านที่วางอนาคตไปสู่เส้นทางของโค้ช วิทยากร หนังสือจะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าเราเชี่ยวชาญด้านนี้จริง ๆ แบบนี้ก็น่าตัดสินใจออกหนังสืออย่างยิ่ง เป็นการวางแผนอนาคตไปสู่เป้าหมายที่วางแผนไว้ได้

การทำหนังสือ เป็นวิชาชีพพิเศษ มันคือจิตวิญญาณ ถ้าเราตั้งต้นที่การให้ พลังงานนี้ที่ส่งออกไป จะประสบความสำเร็จมากกว่าตั้งต้นด้วยการคิดเป็นตัวเงินหรือกำไร ความหมายและผลลัพธ์จะต่างกัน นักเขียนของสำนักพิมพ์วิชส่วนมากตั้งต้นด้วยการให้ ส่วนใหญ่จึงประสบความสำเร็จ

 


กรณีมีฐานแฟนพอสมควรจนมั่นใจแล้ว การทำหนังสือ มีกระบวนการอย่างไรบ้าง

กรณีพร้อมทำหนังสือแล้ว และกำลังเขียนต้นฉบับ แนะนำว่าควรหาที่ปรึกษาที่ดีตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นนี้เลย และควรเป็นบรรณาธิการมืออาชีพที่มีประสบการณ์ สามารถแนะนำทั้งเรื่องงานต้นฉบับ เรื่องการจัดหน้าหนังสือ เรื่องการจัดจำหน่ายได้ เช่น เคยมีนักเขียนหลายท่านที่คิดว่า เมื่อหนังสือพิมพ์เสร็จแล้ว จะขายเอง เพราะไม่ต้องแบ่ง GP 45% ให้ร้านใหญ่ ถึงเวลาขายเองจริง ๆ ก็ไม่มีเวลา เพราะต้องติดต่อ ทำเอกสาร วิ่งส่งหนังสือตามร้านต่าง ๆ สุดท้ายก็ต้องกลับมาฝากร้านใหญ่ขาย ต้องทำสติกเกอร์หน้าผู้จัดจำหน่ายใหม่ กลายเป็นเรื่องเลยเถิดเกินกว่าที่คิดไว้ ดังนั้น เรื่องต้นทุน ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรู้ให้รอบรู้ให้ชัด คำนวณไว้ตั้งแต่แรกให้ครบถ้วนที่สุด

หรือถึงแม้จะมีเพจ มีข้อมูลแน่นแล้ว การจะทำหนังสือให้ดีมีคุณภาพก็ต้องผ่านกระบวนการให้เป็นภาษาเขียน ขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาของ คุณกังวาฬ พุทธิวนิช ผู้เขียนหนังสือ ๗๔ ปี คดีสวรรคต ที่เริ่มต้นจากการเขียนเพจและมีคนติดตามจำนวนมาก เขียนมาได้ประมาณ 2 ปี มีข้อมูลมากพอที่จะรวมเป็นเล่มได้ แต่เมื่อนำข้อมูลจากที่โพสต์มาทำเป็นหนังสือ จากภาษาโพสต์มาเป็นภาษาเขียน กลายเป็นว่าต้องผ่านกระบวนการจัดการข้อมูลกันพอสมควร ใช้เวลากว่า 8 เดือน กว่าเล่มนี้จะเสร็จสมบูรณ์

 


อยากทำหนังสือสักเล่ม ต้องมีงบเท่าไร สำหรับการพิมพ์แบบ Self-Publishing

ขอยกตัวอย่าง กรณีนักเขียน Self-Publishing มีต้นฉบับอยู่แล้วสำหรับทำหนังสือความหนาไม่เกิน 200-250 หน้า ปกติจะมีค่าใช้จ่าย 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ค่าบรรณาธิการเรียบเรียง ค่าจัดหน้าหนังสือ จดลิขสิทธิ์ให้ทั้งหมด ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 75,000 บาทต่อต้นฉบับ ส่วนที่สอง คือ ค่าพิมพ์ ต้นทุนจะผันแปรตามสีที่พิมพ์ และจำนวนพิมพ์ ยิ่งพิมพ์มากต้นทุนยิ่งถูกลง เช่น พิมพ์ขาว-ดำ หรือสี่สี กระดาษที่เลือกใช้ จำนวนที่พิมพ์ 1,500 เล่ม 2,500 เล่ม หรือ 3,000 เล่ม ยกตัวอย่าง ยอดพิมพ์ทั่วไป คือ 3,000 เล่ม กรณีพิมพ์แบบขาว-ดำ ต้นทุนผลิตก็จะอยู่ที่ประมาณหลักสิบ กรณีพิมพ์แบบสี่สีปกแข็ง ต้นทุนผลิตก็จะอยู่ที่ประมาณหลักร้อย เราจะเห็นต้นทุนหนังสือที่ 30 - 50 บาท คูณด้วยจำนวนพิมพ์ 3,000 เล่ม ก็ประมาณการต้นทุนพิมพ์ได้ว่าหลักแสนบาท

ซึ่งการทำหนังสือส่วนมากจะจ่ายเป็นงวด เช่น มัดจำก่อน 50% ผลิตเสร็จแล้วจ่ายอีก 50% หรือขอเครดิต 3 เดือน ขอขายหนังสือก่อน แล้วนำเงินจากการขายหนังสือ 3 เดือน มาจ่ายค่าผลิต ก็สามารถทำได้

สำหรับนักเขียนที่มีแฟนคลับมีคนติดตามมากพอ ลงทุนทำหนังสือแล้วไม่ขาดทุนแน่นอน

ยกตัวอย่าง นักเขียนท่านหนึ่งทำหนังสือท่องเที่ยว เริ่มต้นพิมพ์ที่ 1,500 เล่ม โดยแบ่งไว้ขายเอง 500 และขอวางขายเฉพาะร้านหนังสือซีเอ็ดอีก 1,000 เล่ม ซึ่งกรณีนี้ต้นทุนผลิตก็จะไม่เกินหลักแสน นักเขียนขายเองทั้งหมดที่ 500 เล่ม (โดยไม่ต้องเสีย GP) ก็ได้ทุนผลิตคืนแล้ว ที่เหลือที่ฝากขายคือกำไร แบบนี้เป็นต้น

ทำอย่างไรให้หนังสือที่ทำออกมาแล้วดัง จนติดอันดับ Best Seller

แน่นอนว่าสำนักพิมพ์ทำหน้าที่ผลักดันหนังสือให้ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดเลยคือนักเขียนต้องทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ตัวเองและหนังสือตัวเองด้วย เช่น ก่อนหนังสือพิมพ์เสร็จ ทำการเปิด Pre-Oder เพื่อสร้างการรับรู้ว่ากำลังจะมีหนังสือ, ทำคอนเทนต์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับหนังสือ, สร้างแฟนคลับ, ขอจัดกิจกรรมที่หน้าร้านหนังสือ เป็นต้น คือ ต้องแนะนำหนังสืออยู่ตลอด ต้องไม่หยุดนิ่ง

 


มากกว่ารายได้จากการขายหนังสือ คือโอกาสต่าง ๆ ที่ไม่คาดคิด

ขอยกตัวอย่าง นักเขียนท่านหนึ่ง ภายใน 2 ปี หลังจากที่มีผลงานหนังสือแล้ว หนังสือได้พานักเขียนไปพบโอกาสต่าง ๆ มากมาย ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมาก  ซึ่งเป็นเรื่องที่สำนักพิมพ์วิชภูมิใจและว้าวมาก ๆ ว่าหนังสือมันมีพลัง ถ้าไม่โฟกัสที่รายได้จากการขายหนังสือ การมีผลงานหนังสือคือสิ่งที่ทำให้เราได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ ยิ่งมีแฟนคลับหรือได้รับการตอบรับจากสังคม โอกาสต่าง ๆ จะเข้ามามากมาย เช่น การเปิดธุรกิจใหม่, ได้คู่ค้าใหม่, ถูกเชิญไปบรรยาย, มีการเชื่อมโอกาสต่าง ๆ ที่มาจากหนังสือ ซึ่งส่วนมากที่เป็นแบบนั้น จะทำให้มีแรงบันดาลใจ มีผลงานเล่มที่สอง สาม สี่ ตามมา


เรียกได้ว่า “หนังสือ คือ นามบัตรมีชีวิต” ที่แม้เราจากโลกนี้ไปแล้ว แต่หนังสือผลงานของเราก็ยังอยู่ เรื่องลิขสิทธิ์ก็เป็น Passive Income ตลอดกาล ต่อยอดขยายเป็นผลงานอื่น ๆ ได้อีกมาก และสำหรับคนที่กำลังสนใจเรื่องการทำหนังสือ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร หาข้อมูลเองก็กลัวจับต้นชนปลายไม่ถูก สำนักพิมพ์วิชยินดีให้คำปรึกษาเรื่องการทำหนังสือแบบครบวงจร แนะนำได้ว่าควรเริ่มจากตรงไหน โดยสามารถดูข้อมูลสำนักพิมพ์วิชและผลงานที่ผ่านมาของเราได้ที่ https://bit.ly/3kb9BXx  ค่ะ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้