กฎ 13 ข้อ เตรียมพร้อมสู่เส้นทางนักเขียน

3785 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เส้นทางนักเขียน

          ในขณะที่คุณอยากเป็นนักเขียน ก็มีคนเคยอยากเป็นนักเขียน และทำสำเร็จมาก่อนคุณมากมายแล้ว Jerry B. Jenkins นักเขียนแถวหน้าชาวอเมริกัน บอกว่า เขาเข้าใจความฝันของคนที่อยากเป็นนักเขียนดี เพราะเคยผ่านช่วงนั้นมาก่อน จนปัจจุบันเขาเป็นนักเขียนมานานกว่า 40 ปี มีผลงานเขียนมากกว่า 220 เล่ม

          จึงขอแนะนำกฎ 13 ข้อ ที่จะช่วยให้คนที่อยากเป็นนักเขียน ได้เริ่มต้นเขียนผลงาน โดยย้ำว่า การเขียนงานนั้นประเด็นไม่ได้อยู่ที่ความเร็ว แต่อยู่ที่คุณภาพ !

 



1. หาพื้นที่ที่เอื้อต่อการเขียน
          ความจริงนักเขียนควรสามารถเขียนงานได้ทุกที่ แต่ถ้าต้องการพื้นที่ส่วนตัวจริง ๆ ก็ควรหามุมสงบสักมุมในบ้าน ในห้อง ปิดประตู ปิดเครื่องมือสื่อสาร แล้วก็เริ่มเขียนงานได้ตามที่ต้องการ ดังนั้น ตัดเรื่องไม่มีที่ให้นั่งเขียนงาน ออกไปได้เลย

2. เตรียมอุปกรณ์สำหรับการเขียน
          อุปกรณ์สำหรับเขียนงานจริงๆ มีอยู่ไม่กี่อย่าง โน้ตบุ๊คหนึ่งเครื่อง เก้าอี้ที่นั่งสบายสักตัว และเพื่อไม่ให้เสียสมาธิขณะเขียนงาน ก็ควรเตรียมอุปกรณ์จำเป็นอื่นๆ ให้พร้อมก่อนเริ่มเขียน ในขณะเดียวกันงานเขียนเป็นงานใช้เวลา ควรเตือนตัวเองเสมอว่าอย่านั่งนานเกินไปเพราะอาจส่งผลเสียต่อคอและหลังได้

3. แบ่งเนื้อหาออกเป็นบทย่อย
          เพราะเมื่อจะเริ่มเขียน งานเขียนจะดูเป็นงานก้อนใหญ่มาก แต่เมื่องานถูกแบ่งออกเป็นบทย่อย แล้วทำได้สำเร็จ ความสำเร็จนั้น จะช่วยให้มีกำลังใจเขียนงานต่อไป

4. ตั้งหลักแล้วต้องคิดใหญ่
          หากจะลงทุนทำหนังสือแล้ว เนื้อหาก็ต้องดี มีคุณค่า น่าสนใจ เพราะตลาดหนังสือไม่ได้มีพื้นที่มากพอสำหรับเนื้อหาทั่วไป หากเป็นเนื้อหาทั่วไปคุณควรเขียนในบล็อกสาธารณะก็ได้ แล้วเนื้อหาแบบไหนที่เรียกว่าคิดใหญ่ เจอร์รี่ บอกว่า ถ้าคุณจดจ่ออยู่กับมัน พูดถึงมันตลอดเวลา ยิ่งพูดยิ่งมีคนสนใจ นั่นแหละใช่เลย

5. เค้าโครงเรื่องต้องชัด
          เพื่อเป็นกรอบให้กับการเขียน คำศัพท์ ภาษาที่ใช้ เราต้องการบอกเล่าเรื่องอะไร จะเล่าอย่างไร จะหาข้อมูลได้จากที่ไหน ผู้อ่านอ่านแล้วจะได้ประโยชน์อะไร เปรียบได้กับนิทานอีสป ที่อ่านแล้วรู้ว่านิทานเรื่องนี้สอนอะไร โดยเฉพาะช่วงกลางของเนื้อหาที่ต้องวางโครงให้ดี เป็นช่วงท้าทายว่าผู้อ่านจะเบื่อหรือหลับไปกับช่วงนี้ไหม เป็นช่วงที่นักเขียนต้องหาวิธีการของตัวเอง หรือถ้าค้นพบเค้าโครงที่ดีกว่า ก็ปรับเปลี่ยนเค้าโครงได้ แต่อย่าเปลี่ยนเรื่องที่จะเขียน
                       


6. กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน
          นักเขียนควรกำหนดกรอบเวลาให้ตัวเองได้ อาจเริ่มจากจำนวนหน้าที่ต้องการเขียน 200 300 หรือ 400 หน้า หารด้วยจำนวนวันเวลาที่มี หรือ คำนวณจากความสามารถที่จะเขียนได้ในแต่ละวัน  ว่าได้กี่หน้า เช่น เขียนได้วันละ 10 หน้า ก็ปรับเปลี่ยนตารางกรอบเวลาให้เรียบร้อยชัดเจน และพยายามรักษาวินัยทำให้ได้ตามกรอบ เพราะจะมีผลอย่างมากกับงานผลิต การจัดส่งหนังสือ และการวางขาย ทั้งนี้ต้องแบ่งเวลาให้ตัวเอง ให้ครอบครัว และคนรอบข้างด้วย

7. อ้างอิงแหล่งที่มาของการค้นคว้าวิจัย
          การค้นคว้าวิจัย ช่วยให้งานเขียนมีข้อมูล มีที่มาที่ไป มีน้ำหนัก โดยที่เนื้อหาของนักเขียนจะยังคงเป็นแกนหลัก การอ้างอิงแหล่งที่มาการค้นคว้าวิจัยเป็นข้อมูลเสริมพิเศษ ที่ช่วยทำให้ทั้งหนังสือและนักเขียนมีความน่าเชื่อถือในสายตาของผู้อ่านมากขึ้น

8. เขียนให้อยากอ่านต่อ ตั้งแต่หน้าแรกหรือบรรทัดแรก
          นอกจากปกแล้ว หน้าแรกหรือบรรทัดแรกของเนื้อหา ก็ต้องเปิดตัวให้น่าสนใจ ประหลาดใจ อาจเป็นปรัชญา เป็นข้อมูล เป็นความรู้ใหม่ ที่อ่านแล้วอยากอ่านต่อ

9. เพิ่มสิ่งที่ทำให้เนื้อหาสมบูรณ์
          นอกจากสารบัญแล้ว การแนะนำภาพรวมของเนื้อหา ก็นับว่าเป็นเรื่องสำคัญ นึกถึงเวลาเราเลือกซื้อหนังสือ ถ้ารู้ว่าอ่านเล่มนี้จบแล้วจะได้อะไร หนังสือเล่มนี้ช่วยอะไรเรา ก็ยิ่งช่วยให้เราเข้าใจภาพรวมของเนื้อหาภายในเล่มและตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น

10. เขียนให้เสร็จก่อน แล้วจึงตรวจแก้ไขภายหลัง
          เขียนไปแก้ไขไป ไม่น่าจะทัน เพื่อให้งานเขียนมีความต่อเนื่อง และเสร็จทันกำหนดเวลาที่วางไว้ การเขียนให้เสร็จก่อน แล้วจึงตรวจแก้ไขภายหลัง เป็นวิธีที่ลงตัวที่สุด เนื่องจากเวลาอ่านเพื่อตรวจ เราต้องอ่านตรวจจากเนื้อหาทั้งหมด โดยสวมแว่นของบรรณาธิการและนักอ่านร่วมด้วย

 



11. อย่าล้มเลิกความตั้งใจกลางทาง
          เมื่อเขียนมาครึ่งทางแล้ว นักเขียนหลายคนจะพบภาวะคล้ายๆ กัน คือ ช่วงกลางๆ ของเนื้อหาเป็นช่วงที่ท้าทายมาก ถึงกับเปรียบเปรยว่าราวกับวิ่งมาราธอน ดังนั้น สิ่งที่นักเขียนต้องทำคือเขียนต่อไปอย่างสม่ำเสมอ ต้องรักษาคุณภาพการเขียนให้ต่อเนื่อง ไม่น่าเบื่อ และมั่นใจได้ว่าผู้อ่านยังคงสนุก และอ่านต่อไปจนจบเล่ม

12. เขียนตอนจบให้ประทับใจ
          หลังจากเขียนเนื้อหามาทั้งเล่มแล้ว ตอนจบหรือบทสรุปยิ่งต้องเขียนให้ประทับใจ ตอกย้ำความสมบูรณ์ของเนื้อหาให้กับผู้อ่าน และผู้อ่านจะจำคุณได้ในฐานะนักเขียนคุณภาพ

13. คุณควรเป็นบรรณาธิการเล่มแก้ไขต้นฉบับด้วยตัวเอง
          ไม่ยุติธรรมเลย หากคุณเขียนงานขึ้นมาเพื่อให้บรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่านต้นฉบับคุณเพียงไม่กี่หน้าหรือไม่กี่นาทีเพื่อตัดสินว่าหนังสือของคุณผ่านหรือไม่ผ่าน (คุณอาจจะจ้างบรรณาธิการมืออาชีพมาช่วย  เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเนื้อหาของคุณจะถูกต้องตามจัดวางและการใช้คำถูกต้องตามภาษาเขียน และช่วยให้คุณเห็นจุดอ่อนของเนื้อหาที่คุณเขียนได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นจนจบ อีกทั้งจะช่วยพัฒนาทักษะการเขียนให้ว่าที่นักเขียนมือใหม่แบบก้าวกระโดดได้อีกด้วย

          ทั้งหมดนี้เป็นพื้นฐาน 13 ข้อ ที่สำนักพิมพ์วิชถอดบทเรียนมาจากกูรูวงการนักเขียนระดับโลก อ่านดูแล้วไม่ยาก และเป็นคำแนะนำที่คนที่ประสบความสำเร็จ ระดับนักเขียน Bestselling ตกผลึกมาแล้วกว่า 40 ปี อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว พอจะเห็นภาพผลงานหนังสือของคุณเองชัดขึ้นไหมคะ :)

 -------------------------------------
wishbooks
ยินดีให้คำปรึกษาเรื่องทำหนังสือ
0633628955
-------------------------------------
#Wishbooks #selfpublishing
#Numberoneselfpublishing
#onestopserviceselfpublishing
#สำนักพิมพ์วิช #ทำหนังสือ
www.wishbookmaker.com
-------------------------------------

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้