จากมนุษย์เงินเดือนที่ใช้ชีวิตตามกระแสสังคม สู่ผลงานหนังสือเล่มแรกในชีวิต

360 จำนวนผู้เข้าชม  | 

จากมนุษย์เงินเดือนที่ใช้ชีวิตตามกระแสสังคม สู่ผลงานหนังสือเล่มแรกในชีวิต

นี่คืออีกหนึ่งบทสัมภาษณ์ กับเรื่องราวความสำเร็จของนักเขียนอีกท่าน ทั้งในเรื่องความสำเร็จในชีวิตและความสำเร็จในฐานะนักเขียน ที่น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่กำลังสนใจอยากพิมพ์หนังสือด้วยตัวเอง นักเขียนอิสระ หรือผู้ที่กำลังตั้งใจเขียนต้นฉบับออกมาให้ได้สักเล่ม ว่า Wasu Sooksomsod หรือ คุณวสุ สุขสมโสด ผู้เขียน หนังสือ Best year of my life 363 วัน วิ่งตามฝันในนิวซีแลนด์ มีหลักคิด มีกระบวนการ และวิธีในการเขียน เรียบเรียง เตรียมเนื้อหาอย่างไร จึงสามารถมีหนังสือเล่มแรกในชีวิตได้สำเร็จ ที่สำคัญคือเป็นหนังสือที่อ่านสนุก มีประโยชน์ และเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้ตามความตั้งใจ

 


แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือ Best year of my life 363 วัน วิ่งตามฝันในนิวซีแลนด์ เล่มนี้มาจากอะไร

การเขียนหนังสือเล่มนี้ มีแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ การใช้ชีวิตในต่างประเทศครั้งแรก ในวัย 23 ปี ได้พบเจอผู้คนหลากหลาย ได้รับประสบการณ์ทั้งดีทั้งร้าย สุข สนุก เศร้า เหงา เครียด มันรู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่ทำให้เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่แบบก้าวกระโดด ได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง เรียนรู้ในการเอาตัวรอดแบบไม่มีตัวช่วย จนรู้สึกว่าเราเปลี่ยนไปเป็นคนละคนเลย เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นมาก ๆ ด้วย

จากแต่ก่อนที่เป็นคนที่ค่อนข้างขี้อาย พูดไม่เก่ง ขาดความมั่นใจในตัวเองแทบทุกเรื่อง ไม่กล้าตัดสินใจ กลัวการเข้าสังคม แต่จากหลายประสบการณ์ที่ได้รับมันทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้น ทำให้เรากล้าทำสิ่งที่เราเคยกลัวตลอดทั้งชีวิต เป็นจุดเริ่มต้นให้เราได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ ในชีวิต ที่ทำให้เราเป็นเราในเวอร์ชั่นที่แข็งแกร่ง มั่นใจมากขึ้น มีความสุขในการใช้ชีวิตมากขึ้น และพอใจกับความสำเร็จของตัวเองในวันนี้

ประกอบกับอยากให้คนที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยได้รู้ว่า การได้ไปใช้ชีวิตต่างประเทศไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันและเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป เพราะโครงการ Working Holidays ที่ผมเข้าร่วมนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เงินหรือมีเงินเก็บเยอะถึงจะเข้าร่วมได้ เป็นโครงการที่ทำให้คนฐานะธรรมดาอย่างผมได้โอกาสรับประสบการณ์ล้ำค่าในต่างประเทศและเปลี่ยนชีวิตเด็กหนุ่มต่างจังหวัดคนหนึ่งไปตลอดกาล เกินที่เคยคิดฝันไว้จริง ๆ

ผมได้แชร์เรื่องราวลง Facebook ส่วนตัวบ้างในบางครั้ง เล่าให้เพื่อนสนิทมิตรสหาย น้องนุ่งที่รู้จักฟังบ้าง  หลายคนบอกว่าเป็นเรื่องราวที่สนุกและสร้างแรงบันดาลใจให้เขาได้เป็นอย่างมากและอยากได้ประสบการณ์เหล่านี้บ้าง ซึ่งทำให้ผมรู้สึกว่าเรื่องราวของเราก็น่าสนใจนะ และสร้างแรงบันดาลใจให้คนใกล้ตัวได้ด้วย

จึงเป็นที่มาของความคิดในการอยากเขียนแชร์เรื่องราวประสบการณ์เหล่านี้และเผยแพร่ให้เป็นวงกว้างมากขึ้น เพราะหวังว่าเรื่องราวของเราจะทำให้ชีวิตของน้อง ๆ หลาย ๆ คน ที่มีภูมิหลังคล้าย ๆ เรา ไม่ได้ฐานะร่ำรวย หรือยากจนกว่าเราที่มีความฝันอยากใช้ชีวิต เรียนต่อหรือลงหลักปักฐานในต่างประเทศ ว่ามันเป็นไปได้ และได้เดินทางทำตามความฝันเหมือนที่ผมได้เคยทำเช่นกัน


ภาพรวมเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ เหมาะกับใคร มีจุดเด่น และประโยชน์กับผู้อ่านอย่างไร

อ่านชื่อหนังสือผ่าน ๆ หลายคนอาจคิดว่าเป็นหนังสือท่องเที่ยวในนิวซีแลนด์ ซึ่งอันที่จริงก็ถูกอยู่บ้างเพราะมีเนื้อหาการท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ อยู่พอสมควร แต่ถ้าได้อ่านจนจบเล่มจะพบว่าหนังสือเล่มนี้จะเน้นไปที่การแบ่งปันเรื่องราวการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้นในทุก ๆ ด้าน ผ่านประสบการณ์จริงที่ผมพบเจอในช่วงเวลา 1 ปี ในนิวซีแลนด์ ทำให้ผมเปลี่ยนจากเด็กหนุ่มที่ขาดความมั่นใจ ไปเป็นคนใหม่ที่กล้าเผชิญกับทุกปัญหาด้วยตัวเอง ผู้อ่านอาจจะรู้สึกเหมือนว่า ได้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและร่วมผจญภัยไปกับผมด้วย เพราะทุกสิ่งที่เขียนในหนังสือล้วนเขียนออกมาด้วยความรู้สึกนึกคิดจริง ๆ ไม่ปิดบังความคิดทั้งด้านดีด้านลบที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ประกอบกับภาษาที่ใช้ก็เป็นภาษาง่าย ๆ เหมือนกับภาษาที่เหมือนเล่าเรื่องให้เพื่อน ๆ ฟัง

หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสมกับผู้อ่านทุกเพศ ทุกวัย เพราะคนทุกเพศทุกวัยสามารถพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้เสมอในทุก ๆ วัน พร้อมกับเติมไฟในการเดินตามความฝันที่ไม่เคยกล้าทำมาก่อนด้วยเช่นกัน  นอกจากนั้นผู้อ่านจะได้รับความเพลิดเพลินและได้ร่วมผจญภัยไปกับผม ผ่านการเล่าเรื่องแบบจริงใจในตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งปีในนิวซีแลนด์ ผมเคยได้รับข้อความจากคนทุกเพศทุกวัยที่ส่งผ่านข้อความผ่านทางเพจ Wasu in Aus มีตั้งแต่เด็กมัธยม เด็กมหาลัย วัยทำงาน เหรือผู้ปกครองวัยเกือบเกษียณ โดยรายหลังสุดได้ส่งต่อหนังสือให้ลูกได้อ่าน แล้วอยากให้ลูกมีประสบการณ์ในต่างประเทศเช่นเดียวกับผมเช่นกัน

 



ด้วยงานหลักและภารกิจหลักที่มีอยู่มากมาย คุณวสุจัดสรรแบ่งเวลาให้กับงานเขียนอย่างไร

มีเพื่อนที่รู้จักหลายคนถามคำถามนี้บ่อยมาก เพราะคนที่รู้จักผมจะรู้ว่าผมค่อนข้างบ้าพลัง เป็นเจ้าพ่อโปรเจคและทำหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน ทั้งทำงานประจำเป็นนักบัญชี ออกกำลังกาย ซ้อมวิ่งมาราธอน ทำงานให้ลูกค้าบัญชีส่วนตัว เข้าร่วมชมรมการพูดในที่สาธารณะและกิจกรรมการพัฒนาตนเองอื่น ๆ อีกหลายอย่าง จนหลายคนคิดว่าเอาเวลาที่ไหนไปเขียนหนังสือ อันที่จริงผมก็มีเวลาเท่ากับคนอื่น เพียงแต่ว่าเป็นคนที่ค่อนข้างมีวินัยและจัดการเวลาได้ดีพอควร ซึ่งเป็นผลจากประสบการณ์ชีวิตที่ได้รับในนิวซีแลนด์และออสเตรเลียที่หล่อหลอมให้เรามีนิสัยแบบนี้ ประกอบกับเป็นคนที่ไม่ค่อยเล่น Social media นาน ๆ ถึงจะอัพเดท จึงไม่ได้เสียเวลาไปกับการเชค Social media บ่อย ๆ ทำให้จัดการเวลาได้ดี และมีเวลาให้กับงานเขียนเล่มนี้อย่างต่อเนื่อง  

เวลาเขียน ผมจะไม่นั่งเขียนติดต่อกันหลายชั่วโมงเพราะจะทำให้รู้สึกเบื่อ และไม่อยากให้การเขียนหนังสือไปกระทบกับกิจกรรมอื่นที่เราทำอยู่ เช่น การออกกำลังกาย ซึ่งมีความสำคัญมากเช่นกัน ผมจะพยายามเขียนให้ได้ทุก ๆ วัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที โดยใช้เวลาก่อนเริ่มงานประมาณ 8 โมงถึงเกือบ 9 โมง ที่ร้านกาแฟใกล้ ๆ ที่ทำงาน เมื่อเขียนได้เรื่อย ๆ ทุกวัน เราก็รู้สึกว่างานเขียนมันคืบหน้า ซึ่งกระตุ้นให้เราเขียนได้เรื่อย ๆ จนสำเร็จตามที่เราตั้งเป้าไว้

หลายคนอาจจะมีปัญหาเวลาเริ่มต้นเขียนแล้วรู้สึกว่าคิดไม่ออก สมองไม่แล่น ไม่รู้จะเขียนอะไร ก็จะหยุดเขียนและผลัดไปเขียนวันอื่น งานเขียนก็ไม่คืบหน้าเพราะเราผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ หลายครั้งผมก็ตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นเช่นกัน แต่ก็มีเคล็ดลับที่ทำให้ผมเขียนได้ แม้จะเป็นวันที่รู้สึกว่าคิดงานเขียนไม่ออก โดยจะเชคไอเดียจากสมุดบันทึกที่เราพกติดตัวและแอพในโทรศัพท์ที่ใช้บันทึกไอเดียงานเขียนไว้  เพราะหลายครั้งเวลาออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมอย่างอื่น ไอเดียงานเขียนก็ผุดขึ้นมาให้หัวบ่อย ๆ ถ้าไม่จดไว้บางครั้งเราก็ลืม เพราะชีวิตประจำวันมีเรื่องให้ต้องคิดมากมาย ดังนั้นเวลาเราจะเริ่มต้นเขียนตามเวลาที่เราวางแผนไว้แต่ไม่มีไอเดีย เราก็สามารถเปิดดูสมุดบันทึกที่เราเก็บข้อมูลไอเดียงานเขียนเหล่านี้ไว้ได้ครับ

คุณวสุมีกระบวนการในการจัดเตรียมข้อมูล พิจารณาแนวทางในการเขียน และมีการวางแนวทางในการออกแบบหนังสือเล่มนี้อย่างไร

พอคิดว่าอยากจะเขียนหนังสือเล่มนี้จริงจัง ก็ได้ลงเรียนคอร์สนักเขียนสั้น ๆ 2-3 ชั่วโมง (เรียนออนไลน์) เพื่อจะได้รู้หลักการคร่าว ๆ สิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำในการเขียนหนังสือ หลังจากเรียนเสร็จก็เริ่มคิดว่าจะมี Chapter คร่าว ๆ อะไรบ้าง ตามช่วงเวลา และเมืองที่เดินทางไปทำงานและท่องเที่ยว

ต่อจากนั้นก็เขียนหัวข้อย่อย ๆ ในแต่ละ Chapter ว่าเราเจอประสบการณ์ที่น่าสนใจอะไรบ้าง และมีข้อคิด หรือแนวทางการพัฒนาตัวเองอะไรที่เราสามารถแบ่งปันให้กับผู้อ่านได้ ส่วนเนื้อหามันมีอยู่ในสมอง อยู่ในความทรงจำ จากสมุดบันทึก จากรูปที่ถ่ายไว้เกือบทุก ๆ วัน ในช่วงที่อาศัยอยู่ในนิวซีแลนด์อยู่แล้ว ดังนั้นการเขียนเพิ่มเติมเรื่องราวในแต่ละหัวข้อที่ลิสต์ไว้จึงไม่ใช่เรื่องที่ยากอะไร เพราะเป็นความทรงจำที่เราไม่เคยลืม เพียงแค่ต้องคิดเพิ่มและแทรกในเรื่องของการพัฒนาตัวเองจากประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้รับ แนวทางการพัฒนาตัวเอง และคำคมสร้างแรงบันดาลใจต่าง ๆ ซึ่งผมคิดว่าจะเกิดประโยชน์และให้อะไรกับคนอ่านได้มากกว่าแค่อ่านเรื่องราวการเดินทาง ทำงานและท่องเที่ยวในนิวซีแลนด์เฉย ๆ

ส่วนเรื่องการออกแบบหนังสือ ผมไม่มีไอเดียด้านนี้เลย ทางสำนักพิมพ์วิชเป็นคนแนะนำและออกแบบโดยสอบถามความต้องการผมเป็นหลักว่าอยากให้ออกมาเป็นแนวไหน และส่งงานมาให้ดูก่อนที่จะออกมาเป็นรูปเล่มพร้อมพิมพ์

สิ่งที่อยากจะฝากถึง ผู้ที่ไม่ได้เป็นนักเขียนมืออาชีพ และอยากมีผลงานหนังสือเป็นของตัวเองบ้าง ควรเริ่มหรือควรเตรียมตัวอย่างไร



ผมคิดว่าทุกคนมีเรื่องราวของตัวเองที่น่าสนใจ และอาจจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง  แทนที่จะเก็บเรื่องราวเหล่านี้ไว้คนเดียว การเขียนแชร์ประสบการณ์ผ่านการเขียนหนังสือก็น่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ที่จะทำให้เราได้ทำตามฝัน ในการที่จะมีหนังสือสักเล่มเป็นของตัวเอง และได้แบ่งปันเรื่องราวที่อาจจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน


ตัวผมเองไม่ได้เป็นนักเขียนมืออาชีพ ห่างหายจากการเขียนเรื่องราวหรือบทความเป็นภาษาไทยจริงจังตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรีที่ไทย จนมาทำงานเป็นนักบัญชีที่ออสเตรเลียและใช้ภาษาอังกฤษทั้งอ่าน เขียน พูดในการทำงานตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา การพยายามเขียนบทความหนังสือหรือบทความยาว ๆ จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะผมเองรู้สึกว่าเขียนไม่ได้ เขียนแปลก ๆ ใช้ภาษาพูดมากเกินไป แต่สุดท้ายแล้วก็พยายามเขียนตามความรู้สึก เขียนเล่าเรื่องและรำลึกความทรงจำในช่วงปีนั้น ๆ และต้องไม่กดดันตัวเองจนเกินไปว่าภาษาที่ใช้จะต้องสมบูรณ์แบบ เนื้อเรื่องจะต้องสมบูรณ์แบบ และต้องเขียนให้ได้หลาย ๆ หน้าในแต่ละวัน

ผมพยายามเขียนให้ได้ทุกวัน มากบ้าง น้อยบ้าง ตามเวลาที่เอื้ออำนวยในแต่ละวัน และอย่าคาดหวังว่าภาษาที่เราเขียนหรือประโยคที่เราใช้ต้องสมบูรณ์แบบ เพราะมันจะทำให้เราเครียด กดดันจนรู้สึกว่าเขียนไม่ได้ และสุดท้ายก็ล้มเลิกความตั้งใจไปในที่สุด

ดังนั้น ถ้านึกอะไรได้ก็พยายามเขียนออกมาให้ได้มากที่สุด มันจะทำให้เรารู้สึกว่างานเขียนเรามีความคืบหน้าอยู่ตลอด และทำให้เรามีกำลังใจในการเขียนต่อไปเรื่อย ๆ หลังจากที่หนังสือเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เริ่มเห็นโครงสร้างบทต่าง ๆ ที่เราจะนำเสนอต่อผู้อ่านแล้ว เราก็กลับมาอ่าน แก้และตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือเนื้อหาที่มันซ้ำซ้อนออก กระบวนการเหล่านี้อาจจะต้องใช้เวลาบ้างพอควรและต้องทำวนซ้ำหลาย ๆ รอบ แต่ทุกครั้งมันก็ทำให้เราเห็นถึงข้อผิดพลาดในสิ่งที่เราเขียนและพยายามแก้ไขให้มันดีขึ้นครับ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้