จากที่ปรึกษาทางเทคนิคและผู้บริหารงานขายสู่ผลงานหนังสือเล่มแรกในชีวิต

578 จำนวนผู้เข้าชม  | 

จากที่ปรึกษาทางเทคนิคและผู้บริหารงานขายสู่ผลงานหนังสือเล่มแรกในชีวิต

คุณนิพันธ์ ทารีมุกข์ หรือคุณบอย เป็นเจ้าของผลงานหนังสือ หักมุม 1.0 และ หักมุม ZERO ที่ติดอันดับ Best Seller มายาวนานทั้ง 2 เล่ม แถมยังได้รับความนิยมจากนักอ่านถึงขนาดต้องพิมพ์ซ้ำ ถึง 21 ครั้ง และเป็นนักเขียนต้นแบบอีกท่านหนึ่งที่มากความสามารถ จากความฝันที่อยากเป็นนักเขียนก็สามารถทำได้สำเร็จอย่างงดงาม สำนักพิมพ์วิชหวังว่าบทสัมภาษณ์นี้ จะทำให้คุณผู้อ่านที่มีความฝันอยากมีผลงานเขียน ได้รับแรงบันดาลใจและได้เห็นแนวคิด เห็นกระบวนการ และอยากลงมือเขียนหนังสือให้สำเร็จได้สักเล่มดูบ้างนะคะ

บทบาทหน้าที่หลักช่วงที่เขียนหนังสือหักมุม 1.0 และ หักมุม ZERO

ตอนที่เขียน หักมุม 1.0 และ หักมุม ZERO ช่วงนั้นหน้าที่มีอยู่ 2 อย่างที่ต้องทำคู่กันครับ 1. คือเป็น Technical Consultant หรือที่ปรึกษาทางเทคนิคของบริษัทแห่งหนึ่ง และ 2. คือการขายของไปด้วยขณะให้คำปรึกษา พอนำทั้ง 2 อย่างมารวมกัน สรุปสั้น ๆ เลยก็คือ ผมมีอาชีพเป็น Salesman หรือ พนักงานขายครับผม (ฮา) ปัจจุบันทำมานานก็อยู่ในระดับบริหารแล้ว !  

 

แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือ หักมุม 1.0 และ หักมุม ZERO

ที่จริงแล้ว แรงบันดาลใจของทั้ง 2 เล่ม มาจากจุดเดียวกัน คือ อยากเป็นนักเขียน ตอนนั้นได้มีโอกาสอ่านหนังสือของคุณ Dan Brown ผู้เขียน รหัสลับดาวินชี, เทวากับซาตาน และ เรื่องอื่น ๆ เลยเกิดความรู้สึกที่ว่า ทำไมนักเขียนคนนี้เขียนได้เก่งจัง อนาคตเราอยากเขียนหนังสือเก่ง ๆ แบบนี้บ้าง หนังสือทั้ง 2 เล่มนี้ ก็เลยเกิดขึ้นครับ

ภาพรวมเนื้อหาของหนังสือ หักมุม 1.0 และ หักมุม ZERO

ภาพรวมของหนังสือทั้ง 2 เล่ม เขียนคนละวัตถุประสงค์กันครับ เล่มแรก ‘หักมุม 1.0’ เล่มนี้เป็นเรื่องสั้น ในเล่มมีทั้งหมด 12 ตอนด้วยกันที่จบแบบหักมุมครับ จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ ความสนุกในการอ่าน สมัยก่อนผมชอบอ่านหนังสือที่เป็นแนวหักมุม มันทำให้เราลุ้นและพยายามเดาตอบจบของเรื่องในแต่ละตอน ผมว่ามันเป็นความรู้สึกที่สนุกดี และแต่ละตอนก็ไม่ยาวมาก ค่อย ๆ ทยอยอ่านได้ เหมาะกับคนที่ไม่ชอบอ่านเรื่องยาว ๆ หรืออยากอ่านอะไรเพลิน ๆ ได้คิดตามไปด้วยสนุก ๆ ครับ ซึ่งในแต่ละตอน ผมได้ซ่อนเนื้อหาสาระบางอย่างไว้ (แม้มันออกจะดูไม่ค่อยมีสาระเท่าไหร่ก็เถอะ เอิ่ม ?!)

ส่วนเล่มที่ 2 คือ ‘หักมุม ZERO​’ เล่มนี้เป็นหนังสือที่เขียนจากเรื่องจริง เป็นประวัติของผมเอง ในการตามล่าความฝัน ในการอยากไปเห็นหิมะสักครั้งในชีวิต เงินก็ไม่มี (สมัยก่อน) แต่ความฝันมันก็ช่างชัดเจนเหลือเกิน ยังไงก็อยากไปเห็นสักครั้งให้ได้ เรื่องวุ่น ๆ หลังจากนั้น มันเลยเกิดขึ้นครับ หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสำหรับคนที่มีความฝัน หรือ กำลังมองหาอะไรสักอย่างที่อยากทำให้สำเร็จ ข้างในนั้นจะคล้ายเป็นประสบการณ์ที่ผมอยากจะแชร์ว่า ตราบใดที่เราไม่ละทิ้งความพยายาม การเปลี่ยนแปลงบางอย่างในทางที่ดีก็จะเกิดขึ้น หนังสือเล่มนี้เหมือนจะเป็นหลักฐานที่บ่งบอกอะไรประมาณนั้น และทุกคนสามารถนำเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ในเล่ม ไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้ รับรองว่า ‘เลิศ !!’ แน่นอน

 


ด้วยงานหลักและภารกิจหลักที่มีอยู่มากมาย มีเทคนิคจัดสรรแบ่งเวลาให้กับงานเขียนแต่ละเล่มอย่างไร เล่มแรกและเล่มที่สองการจัดการเรื่องงานเขียนแตกต่างกันไหม

การจัดสรรเวลาของทั้ง 2 เล่ม เหมือนกันครับ นั่นคือ ผมจะหาร้านกาแฟที่ชอบบรรยากาศที่ใช่ และใช้เวลาว่างหลังเลิกงานไปที่ร้านแห่งนั้นและค่อย ๆ เขียน (พร้อมกับจิบกาแฟดำร้อน ๆ ที่ส่งกลิ่นหอม ๆ ตามไปด้วย) ผมรู้สึกว่าในการเขียนเรื่องแต่ละเรื่อง ‘อารมณ์’ ในการเขียนเป็นสิ่งสำคัญ บางวันอารมณ์ดีก็อาจจะเขียนได้มากหน่อย บางวันอารมณ์ไม่ได้ก็อาจจะเขียนได้น้อยหน่อยหรือไม่ได้เลยก็มี..

บรรยากาศในการเขียน ณ ขณะนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ !

โดยเฉพาะช่วงเสาร์-อาทิตย์ ที่เป็นวันหยุด อันนี้ก็จะเป็นวันที่เขียนได้แบบสบาย ๆ แต่แน่นอน อย่าลืมอุดหนุนของในร้านเขาด้วยนะครับ ไม่งั้นอาจจะโดนรังสีอำมหิตจากคนขายแผ่ขยายออกมาได้ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น บรรยากาศดี ๆ คงมีกระเจิงแน่นอน กลายเป็นบรรยากาศมาคุมาแทน อันนี้ก็ต้องจัดสรรกันดี ๆ (ฮา)

 


ในกระบวนการการจัดเตรียมข้อมูล พิจารณาแนวทางในการเขียน และการวางแนวทางในการออกแบบหนังสือทั้ง 2 เล่ม

ทั้ง 2 เล่ม แนวการเขียนจะต่างกันนิดครับ กล่าวคือ ถ้าเป็นเรื่องสั้นหักมุมก็ต้องหา ‘พล๊อต’ ที่สนุกและแปลกใหม่มาเขียน หาทางบรรยายที่จะทำอย่างไรให้ผู้อ่านจับจุดไม่ได้ และ มี Surprise ที่เป็นทีเด็ดคอยปิดจบในตอนท้าย ส่วนตัว ผมอยากเขียนให้มีข้อคิดดี ๆ สอดแทรกอยู่ในบทความนั้นด้วย รวมไปถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่กล่าวถึงก็ต้องทำการบ้านเป็นอย่างดี ทั้งข้อเท็จจริงที่เกิดและแหล่งอ้างอิงที่ชัดเจนมีที่มาที่ไป

ทั้งนี้เพื่อให้คนอ่านได้ความรู้ในระหว่างที่อ่านไปด้วย เป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยในการอ่านบทความในแต่ละเรื่อง

‘หนังสือแต่ละเล่มมันควรจะทิ้งตะกอนอะไรบางอย่างไว้ให้กับคนอ่านได้คิดตาม’ ผมมักจะเริ่มต้นเขียนด้วยวิธีคิดแบบนั้น

ส่วนเรื่องยาวใน ‘หักมุม ZERO’ ผมจะวางโครงเรื่องทั้งหมดในการเขียนไว้ก่อน เรื่องราวจะเล่าจากจุดไหนไปจุดไหน จะมีเหตุการณ์สำคัญ ๆ อะไรเกิดขึ้นบ้าง เรื่องราวจะมีการดำเนินไปอย่างไร และ จุดสิ้นสุดจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้เราได้เห็นกรอบในการเขียนได้ชัด เห็นถึงน้ำหนักในแต่ละเรื่องว่ามันมากน้อยไปไหม พยายามเฉลี่ยในแต่ละตอนให้สมดุลกัน

แน่นอนว่าในเรื่องราวเหล่านั้น อะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนอ่านบ้างก็ต้องไม่ลืมที่จะใส่ไว้ และด้วยความที่เป็นเรื่องยาว หน้าที่ที่สำคัญอีกอย่างของนักเขียนเลยก็คือ จะทำอย่างไรให้ตอนจบของแต่ละตอนย่อยมีความสนุก ทำให้คนอ่านรู้สึกตื่นเต้นและเกิดความรู้สึกที่อยากจะอ่านต่อให้ได้ เหมือนเราดูหนังซีรี่ย์ในทีวี ที่มักจะทำให้เราหยุดดูไม่ได้ อยากจะดูต่อไปเรื่อย ๆ อะไรประมาณนั้น นั่นคือความยากในการเขียน ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ง่ายเลย แต่เราก็ต้องพยายาม

 


สิ่งที่อยากจะฝากถึง ผู้ที่ไม่ได้เป็นนักเขียนมืออาชีพ และอยากมีผลงานหนังสือเป็นของตัวเองบ้าง ควรเริ่มหรือควรเตรียมตัวอย่างไร
 
ถ้าสิ่งนั้นเป็น ‘ความฝัน’ ก็จงลงมือทำ และ อย่ายอมแพ้ !

ประสบการณ์จากการทำอะไรซ้ำหลาย ๆ ครั้ง จะสอนเราให้เราเรียนรู้และเกิดการพัฒนาเอง และสุดท้ายถ้ามันเป็นความชอบ ผมเชื่อว่าเราจะทำได้ และ ทำได้ดีกว่าคนอื่น ๆ ด้วย !

ผมไม่รู้ว่ามันจะเป็นแบบนั้นเสมอไปไหม แต่ผมรู้สึกว่าตัวผมเอง ก่อนที่จะเป็นนักเขียน ผมก็เป็นนักอ่านมาก่อน การที่เราอ่านหนังสือมาเรื่อย ๆ ผลึกจากการอ่านมันก็คงจะตกอยู่ในก้นบึ้งของความคิดเราโดยที่เราไม่รู้ตัว และวันหนึ่งวันที่เราต้องการเรียกมันมาใช้ มันก็คงค่อย ๆ ก่อร่างสร้างตัวกันขึ้นมา จนกลายมาเป็นแนวเขียนของเราในที่สุด

ดังนั้น ถ้าจะให้ดี ผมคิดว่าเราต้องหัดที่จะ ‘สังเกต’ ไว้ครับ คอยสังเกตคนที่เขียนเก่ง ๆ หรือเป็น Idol ของเรา ศึกษาดูว่าเขามีวิธีการเขียนหรือเล่าเรื่องอย่างไร อะไรที่ทำให้เขาโดดเด่นหรือเป็นทีเด็ดของเขาในการเขียน ไม่ต้องจำถึงขั้นวิธีเขียนมานะครับ ซึมซับและปล่อยมันออกมาในแบบของเรา เดียวมันก็จะค่อย ๆ หล่อหลอมกลายมาเป็นแนวทางของเราเอง..

‘จงเขียน เขียน เขียน แล้วก็เขียน !’

สำคัญที่สุดคือ อย่าเพิ่งถอดใจยอมแพ้ครับ นักเขียนบางท่านใช้เวลาในการเขียน 3 ปี 5 ปี ฯลฯ กว่าจะเขียนหนังสือมาได้ในแต่ละเล่ม ดังนั้น ค่อย ๆ ทำไป เหนื่อยก็พักมีกำลังก็ลุยต่อ หาคนใกล้ตัวมาคอยให้คำแนะนำเราบ้าง วันหนึ่งมันก็จะประกอบกันเป็นรูปเป็นร่างและปรากฏตัวออกมาเอง (หนังสือเล่มแรกของผมก็ถือกำเนิดมาจากอะไรประมาณนี้)

ตลอดระยะเวลายาวนานในการเขียนหนังสือแต่ละเล่ม ผมมักจะถามตัวเองเสมอ ๆ เวลาที่เขียน ‘หนังสือเล่มนี้จะให้อะไรกับคนอ่าน ?!’ ถ้าคำตอบนี้ชัดและมันเป็นความฝัน ก็ไม่มีอะไรต้องกลัวครับ ลุย !! (ฮา)



ปล.1 เหมือนอย่างที่ผมเคยเขียนไว้ใน หนังสือ ‘หักมุม ZERO’..

“หน้าที่ของความฝันไม่ใช่การดำรงอยู่ แต่เป็นการนำทางแล้วจางหายไป เพื่อกลายเป็นความจริง”

“Dream is not meant only to just exist. But is guidance that one day will simply turn into reality”

ถ้าการเป็นนักเขียนของเราคือความฝัน เราก็แค่ทำให้มันเป็นความจริงครับ ง่าย ๆ แค่นั้น เป็นกำลังใจให้ครับ

ปล.2 อย่าลืมว่าท้ายที่สุดของที่สุด เรายังมี บก. ที่จะคอยให้คำแนะนำและดูแลต้นฉบับให้เราด้วยนะ เป็นผู้ช่วยคนสำคัญมีอะไรปรึกษาได้เลยครับ (ฮา)


นิพันธ์ ทารีมุกข์ (บอย)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้