พระนักบริหาร พระธรรมวิทยากร สู่ผลงานหนังสือธรรมะ เพื่อเป็นสะพานเชื่อมไปถึงฝั่งแห่งการเรียนรู้ที่ดีและมั่นคง

884 จำนวนผู้เข้าชม  | 

พระนักบริหาร พระธรรมวิทยากร สู่ผลงานหนังสือธรรมะ เพื่อเป็นสะพานเชื่อมไปถึงฝั่งแห่งการเรียนรู้ที่ดีและมั่นคง

เป็นอีกโอกาสดีของสำนักพิมพ์วิช ที่ได้กราบขอสัมภาษณ์ พระสุธีวชิรปฏิภาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระธรรมวิทยากร ประธานเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี พระนักเขียนที่มีผลงานหนังสือธรรมะมาแล้วถึง 6 เล่ม กับผลงานเล่มล่าสุด หนังสือ โชคดีที่มีลมหายใจ

 

 

 

กราบเรียนถามในฐานะที่พระคุณเจ้าเป็นพระนักบริหาร พระธรรมวิทยากร และเป็นประธานโครงการต่าง ๆ อีกมากมาย พระคุณเจ้ามีเทคนิคการเขียนหนังสืออย่างไรบ้างคะ

     ในการเขียนหนังสือ ก็เป็นงานเผยแผ่งานหนึ่งทางพระพุทธศาสนา ด้วยคำสอนทางพระพุทธศาสนาท่านสอนว่า อักขระคำสอนหนึ่งคำ เท่ากับการสร้างพระพุทธรูปหนึ่งองค์ ก็เป็นหลักในการที่ตั้งใจว่า อย่างน้อยที่สุดถ้าเราสามารถรวบรวมหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนมา มารวบรวมแล้วก็มาประยุกต์ให้เหมาะให้ควรในการเรียบเรียงเพื่อใหเกิดเป็นหนังสือธรรมะ เป็นหน้าที่หนึ่งของพระที่จะได้ส่งต่อธรรมะให้กับญาติโยม เปรียบเสมือนเชฟก็ต้องเลือกอาหารที่เหมาะควร เลือกเครื่องปรุง เลือกอุปกรณ์ที่ปรุงอาหารได้เหมาะได้ควรกับผู้รับประทานอาหารนั้น ธรรมะในทางพระพุทธศาสนามีมาก เหมาะควรแก่วัยของคนแต่ละช่วงชั้น อาจจะเป็นธรรมะบางประการที่ทำให้เราท่านทั้งหลายเห็นว่า ธรรมะบางอย่างเป็นเสมือนยาขม แต่ว่าธรรมะบางอย่างมันเหมือนขนมหวาน เราก็เอาความพอดีของยาขมกับขนมหวานมาสร้างให้เกิดธรรมะที่เกิดความกลมกล่อม ให้เข้าใจในระดับที่ไม่ยากเกินไป แล้วก็ไม่ได้ดูเป็นเรื่องที่ไร้สาระเกินควร 

 

สุ จิ ปุ ลิ การเขียนต้องฝึกไหมคะ

     ในทางพุทธศาสนา หลักนักปราชญ์ สุ จิ ปุ ลิ เป็นคำสอนโบราณและก่อให้เกิดประโยชน์จนถึงยุคปัจจุบัน เป็นหลักร่วมสมัย แต่จะเขียนได้ดีก็เกิดจากการฟังมามาก สนทนามามาก ได้พบเจอบัณฑิต ได้พบเจอกัลยาณมิตร ลำพังเราเขียนอย่างเดียวโดยที่ไม่มีกัลยาณมิตรก็อาจจะไม่กลมกล่อม หนังสือ โชคดีที่มีลมหายใจ หลายช่วงหลายตอน เกิดขึ้นจากการบรรยายธรรมผสมกับการสนทนาธรรม ไม่ได้เป็นธรรมะที่อาตมารู้ด้วยตนเองไปทุกเรื่อง บางเรื่องครูของนักเขียนหนังสือเล่มนี้คือผู้ฟังธรรม คนที่ฟังธรรมะอารมณ์ดีนี่แหละ เขาสะท้อน เขาถาม เขาแลกเปลี่ยน เขาแชร์ ก็เกิดเรื่องราวให้นำมารวบรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บูรพาจารย์ หลวงพ่อ หลวงพี่ ท่านเจ้าคุณอาจารย์ ท่านได้สอนธรรมะ หลักการใช้ชีวิต การทำงาน เช่น หลวงพ่อท่านเจ้าคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ท่านปรารภเรื่อง เสน่ห์ของชีวิต เสน่ห์ของคนทำงาน ก็ย่อมาจากธรรมะ คือ สังคหวัตถุธรรม แต่ท่านมาผูกเป็นกลอนว่า


อยากมีเสน่ห์ แบบได้ดี มีคนรัก
พึงรู้หลัก รักแบ่งให้ ปากใจหวาน
อย่าใจแคบ รู้ขวนขวาย ช่วยการงาน
วางตัวเหมาะ ในทุกสถาน อย่าขาดเกิน


     อาตมาก็เอาเรื่องราวเหล่านี้มาบรรยายในที่ต่าง ๆ คุณโยมบางท่านก็สงสัยว่า “อยากมีเสน่ห์แบบได้ดีมีคนรัก พึงรู้หลัก รักแบ่งให้” การให้ มีกี่อย่าง ให้ใครแล้วได้อะไร ให้ใครแล้วเป็นผลอย่างไร มันก็เกิดจากการตั้งคำถามของผู้ฟังธรรม อาตมาก็นำสิ่งเหล่านี้มาเรียบเรียง เพื่อให้เห็นคำตอบที่สามารถทำให้คุณโยมที่ฟังธรรมก็ดี อ่านหนังสือเล่มนี้ก็ดี มีสะพานที่จะก้าวเดินต่อไป ถ้าเปรียบเสมือนการเดินทาง หนังสือ โชคดีที่มีลมหายใจ เล่มนี้ เป็นสะพานไม้สะพานหนึ่งที่ไม่ใหญ่เท่าไร แต่ทำให้ก้าวข้ามไปถึงฝั่งแห่งการเรียนรู้ที่ดีที่มั่นคงได้ยิ่งขึ้น

จากการที่ได้พบเจอบัณฑิต ได้เจอกัลยาณมิตร มีบูรพาจารย์ มีผู้ฟังธรรม ท่านมีการตกผลึก เป็นงานเขียนได้อย่างไรคะ

     การบรรยายธรรม อาตมาบันทึกเสียงไว้ทุกครั้ง เพราะบางที่ บางแห่ง ธรรมะมันเกิดขึ้นอยู่หน้าเวที หรือเพชรมันเกิดขึ้นอยู่ข้างธรรมมาศ มีญาติโยมมาตั้งคำถาม มีคนสนใจโยนคำถามขึ้นมาบนเวที เราก็นำเสียงเหล่านั้นแหละมาถอดเทป หลายครั้งที่ ทำไมวันนี้คุณโยมอยากรู้เรื่องนี้ หลักหนึ่งของการเขียนหนังสือคือ ไม่ใช่เขียนตามใจที่เราอยากจะเขียน แต่เราเขียนสิ่งที่คนส่วนใหญ่อยากจะรู้ อยากจะเข้าใจ เช่น คำบาลี ถ้าพระด้วยกันเข้าใจได้ แต่ญาติโยมทั่วไป คำว่า สติ คำเดียว บางครั้งอาจจะยังไม่เข้าใจแจ่มชัด แต่ก็ได้เอามาย่อย เอามารจนาในมุมที่ไม่ยากเกินควร คำถามบางคำถามอาจจะเป็นธรรมะไปในตัว โดยที่เราเองในฐานะผู้เขียนไม่ต้องมาเจียรไนอะไรแล้ว เพราะเป็นคำถามที่เป็นคำตอบไปในตัวด้วย

 
จะเห็นว่ากระบวนการในการเตรียมงานเขียน ผ่านกระบวนการคิด กระบวนการเตรียมการ มีทีมบันทึกเสียงทุกครั้งที่มีการออกไปบรรยาย เพราะท่านมีกิจนิมนต์ไปบรรยายตามสถาบันองค์กรต่าง ๆ เยอะมาก

     ปีหนึ่งประมาณ 300 งาน ก็เกิดการตกผลึก บางเรื่องหน่วยงานหนึ่งฟังแล้วเข้าใจดี เรื่องเดียวกันแต่ไปบรรยายอีกที่หนึ่งเขาไม่เข้าใจ เราก็ต้องเอาธรรมะเหล่านี้มาปรุงใหม่ แต่ว่าสิ่งสำคัญคือ ไม่ทิ้งของเก่า ไม่เมาของใหม่ นักเขียนที่ดีต้องไม่ลืมบรรณานุกรม พระพุทธเจ้าสอนยังไง ครูบาอาจารย์สอนยังไง สังคมโลก หรือแม้กระทั่งโบราณที่ดำเนินชีวิตกันมาได้เป็นร้อยเป็นพันปี เขามีหลักคิด หลักดำเนินชีวิต บางสิ่ง เรานึกว่าของใหม่ดีกว่า มันอาจดีช่วงระยะหนึ่ง ของเก่าก็มาเติมเต็มได้ ของใหม่เราก็เรียนรู้ ของเก่าเราก็รักษาสืบสาน
 

กราบขอให้พระคุณเจ้าเมตตาแนะนำพระภิกษุที่มีความฝันอยากเขียนหนังสือแบบท่านบ้างค่ะ

     เราสามารถใช้โอกาสนี้แหละ พระคุณเจ้า หลวงพ่อ หลวงพี่รูปใด จะอยู่มุมไหนก็ตาม เราสามารถที่จะเรียบเรียงธรรมะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ร่วมสมัย ในสถานการณ์ปัจจุบันก็ดี โดยมีคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นกรอบ เป็นสิ่งที่ตั้งหลักไว้ เราก็เสริมเติมสิ่งที่เป็นประโยชน์ในยุคปัจจุบันก็นำมาใช้ได้ แต่ว่าสิ่งต่าง ๆ ต้องเกิดขึ้นไปด้วยความเกื้อกูล เกิดขึ้นเพื่อเราท่านทั้งหลายมีกุศลเจตนา เช่น หนังสือเล่มนี้อาตมามีกุศลเจตนาเบื้องต้นอยู่แล้ว ว่าอย่างน้อยที่สุดเมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ไม่มีอะไรเลย แต่ยังมีลมหายใจ ไม่มีเงินในกระเป๋า ไม่มีข้าวกิน ไม่มีงานทำ แต่ลมหายใจยังมี เราก็ต้องใช้วิกฤตินี้ในการเกื้อกูลกัน ส่งต่อกำลังใจ

 


เนื่องจากพระคุณเจ้าเป็นพระที่มีกิจมาก เป็นพระนักบริหาร พระคุณเจ้าแบ่งเวลาในการทำหนังสืออย่างไรบ้างคะ

     เบื้องต้นก่อนจะบริหารเวลา อาตมาบริหารใจก่อน เพื่อให้จัดสรรเวลาได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ เรียงลำดับความสำคัญของงาน งานไหนสำคัญที่สุด งานไหนจำเป็น ไม่จำเป็น เราอยากทำงานทุกงานที่สำคัญ แต่มันมีงานที่สำคัญที่สุดอยู่ เราก็ควรบริหารให้เกิดความพอดี ก็เริ่มจากการบริหารใจ เอาใจไปวางกับงานที่เราต้องทำ จบงานก็จบกัน เราไม่จำเป็นต้องแบกงานไว้ เราจะได้พักผ่อน ก็อาจจะใช้สูตรง่าย ที่ร่วมสมัยเขาใช้กัน แปด แปด แปด คือ แปดชั่วโมงก็ทำงานให้เต็มที่ แปดชั่วโมงก็พักผ่อน อีกแปดชั่วโมงก็ทำประโยชน์แก่ตนเอง แก่สังคม แก่ครอบครัว สูตรนี้ก็ไปคล้องกับทางพระพุทธศาสนาว่า เมื่อเราบริหารใจได้ งานจะใหญ่แค่ไหนก็ตาม งานจะวุ่นแค่ไหนก็ตาม งานทุกงานก็สามารถเกื้อกูลกันได้ เราไม่เอาเป็นเอาตายทุกงาน เราจะเอาเป็นเอาตายไปก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะจะเกิดความทุกข์ และทุกข์ที่มันเกิดขึ้น มันเป็นทุกข์ที่เราไม่ได้บริหารใจ ก่อนจะบริหารนาฬิกาที่เดินไปตามเวลา เราต้องบริหารเวลาชีวิตด้วย ด้วยการทำใจของเราให้ปลอดโปร่ง โล่งสบาย มีกรอบแห่งความคิดที่เป็นกุศลเจตนา ทำงานเหนื่อยทุกคนแหละโยม ใครที่ทำงานแล้วไม่เหนื่อย โบราณท่านกล่าวว่า วัน ๆ ไม่ค่อยได้ทำอะไร แต่ถ้าทำงานแล้วเหนื่อยมันเป็นเรื่องปกติ แต่มันเหนื่อยกาย ไม่เหนื่อยใจ เราบริหารใจได้ เราก็จะบริหารเวลาได้ เพระว่าใจมันเป็นตัวกำหนดวัดเวลา ที่สำคัญคือเวลาของเราทุกคนมีไม่เท่ากัน ชีวิตของเรามันน้อยนัก เราก็ใช้เวลาที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ที่สุด
 

สุดท้ายนี้พระคุณเจ้ามีสิ่งใดที่อยากฝากเป็นข้อคิดเตือนใจไหมคะ

     หนังสือ โชคดีที่มีลมหายใจ เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของธรรมะในทางพระพุทธศาสนา ถ้าเปรียบกับยารักษาโรค ก็เป็นวัคซีนใจ ที่จะทำให้เราท่านทั้งหลายดำเนินชีวิตไปด้วยความไม่ประมาท ก็ขอเป็นกำลังใจให้ญาติโยมทุกคนทุกท่าน และขออนุโมทนาอย่างยิ่งในกุศลเจตนาของท่านผู้บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และสำนักพิมพ์วิช ได้มีกุศลเจตนาร่วมกันเพื่อเผยแพร่หนังสือดีเพื่อคนไทย ราคาไม่แพง 29 บาท เราสามารถนำ 29 บาทนี้ มาส่งต่อกำลังใจ และสิ่งเหล่านี้ก็จะย้อนคืนมาถึงเราด้วย ย้อนคืนถึงคนที่เรารักด้วย และสิ่งสำคัญคือผืนแผ่นดินไทยที่เราอาศัยอยู่ ก็จะมีหนังสือบาง ๆ เล่มหนึ่งเป็นกำลังใจ ยามโยมท้อ โยมเหนื่อย รู้สึกว่าไปต่อไม่ได้ อย่างน้อยที่สุด หนังสือเล่มนี้อาจจะเป็นกัลยาณมิตรให้คุณโยมสามารถลุกขึ้นมาสร้างอิทธิฤทธิ์ด้วยตัวของโยมเองกับลมหายใจที่ยังมี ขอเจริญพร

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้