524 จำนวนผู้เข้าชม |
MR. Zengyang Xing หรือ คุณวิน ไพศาล เป็นคนจีนโดยกำเนิด มีชีวิตในวัยเด็กที่ไม่สมบูรณ์นัก แต่ก็ไม่เคยคิดยอมแพ้ให้โชคชะตา ตัดสินใจมาเมืองไทย เรียนภาษาไทย พัฒนาตนเอง ซึ่งความสำเร็จในวันนี้ มีเหตุมาจากมุมมอง การคิด และการตัดสินใจในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของชีวิตทั้งสิ้น เมื่อประสบความสำเร็จแล้ว คุณวินจึงตั้งใจเขียนหนังสือเล่มแรกในชีวิต ด้วยอยากจะแบ่งปันมุมมองเรื่องของเส้นทางชีวิต การพัฒนาตนเอง เรื่องการทำงาน เรื่องอาชีพ เรื่องหลักการบริหารทั้งในช่วงที่ธุรกิจรุ่งเรืองและช่วงที่เกิดภาวะวิกฤติ กระทั่งกลับมาแจ้งเกิดอีกครั้งในฐานะเจ้าของ บริษัท สตาร์ อินดัสเทรียล ซัพพลาย เชน จำกัด หรือ SISC จำหน่ายเครื่องจักรอุตสาหกรรมเบอร์ต้น ๆ ของประเทศไทย
แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือ Startup Easily ทำอาชีพให้เป็นมืออาชีพ เล่มนี้มาจากอะไร
ผมเริ่มเขียน หนังสือ Startup Easily ทำอาชีพให้เป็นมืออาชีพ เล่มนี้ เมื่อปลายปี 2562 เขียนแล้วเสร็จช่วงกลางปี 2563 วัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันประสบการณ์และแนวคิดการเป็น Startup ตอนที่เขียนคิดแค่นี้ครับ
แต่หลังจากเวลาผ่านไปสักระยะ พร้อมกับที่ผมได้ศึกษาและพัฒนาตนเองไปได้อีกระดับหนึ่ง ผมก็ค้นพบว่ายังมีปัจจัยสำคัญอื่น ที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการลงมือเขียนหนังสือเล่มนี้ด้วย เช่น ผมต้องการพิสูจน์ความถูกต้องของแนวคิดที่ผ่านมา รวมถึงพัฒนาการในการสร้างอาชีพ และอยากให้เห็นว่าในใจลึก ๆ ของนักสู้คนหนึ่ง ยังมีความปรารถนาที่จะท้าทายความสามารถของตัวเองให้เต็มที่ที่สุด
หากว่าใครอยากจะทราบว่า แนวคิดและความสามารถเราพัฒนาถึงขั้นไหนแล้ว อยากให้ลองเขียนหนังสือในเรื่องที่เรามั่นใจและเชี่ยวชาญกันดูสักเล่มครับ
ภาพรวมเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ เหมาะกับใคร มีจุดเด่น และประโยชน์กับผู้อ่านอย่างไร
หนังสือ Startup Easily เล่มนี้ ผมพยายามเขียนเนื้อหาให้ครอบคลุมแบบกว้างและครบถ้วน วัตถุประสงค์คือต้องการแบ่งปันประสบการณ์และความรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะกับ
1. ผู้ที่เรียนจบปริญญาตรีขึ้นไป มีความรู้เรื่องบริหารธุรกิจระดับหนึ่งคิดเป็นสัดส่วน 30%
2. เจ้าของธุรกิจที่ต้องการศึกษาประสบการณ์จากคนอื่นเพื่อนำไปประยุกต์ใช้งานต่อไป 50%
3. ลูกค้าหรือผู้ที่รู้จัก SISC 10%
4. นักศึกษาจบใหม่และคนทั่วไปที่สนใจธุรกิจ Startup 10%
ด้วยงานหลักและภารกิจหลักที่มีอยู่มากมาย คุณวินจัดสรรแบ่งเวลาให้กับงานเขียนอย่างไร
เมื่อวางระบบองค์กรไว้ดีแล้ว เราจะใช้เวลาไปกับการบริหารจัดการเรื่องสำคัญ ๆ เท่านั้น ผมจึงใช้เวลาหลังเลิกงาน และวันหยุดในการเขียนต้นฉบับและปรับแก้จนครบตามหัวข้อย่อยที่วางไว้ งานกับชีวิตของผมได้หลอมกันเป็นหนึ่งแล้ว งานที่ทำก็อยู่ในใจตลอดเวลาครับ
คุณวินมีกระบวนการในการจัดเตรียมข้อมูล พิจารณาแนวทางในการเขียน และมีการวางแนวทางในการออกแบบหนังสือเล่มนี้อย่างไร
นักบริหารต้องมีความสามารถในการวางแผนและอ่านภาพรวม ขั้นตอนการเขียนงานของผมคือ
1. ตั้งต้นด้วยชื่อเรื่อง
2. วางโครงเป็นหัวข้อย่อย
3. เขียนตามหัวข้อย่อยที่วางแผนไว้
4. เติมจิตวิญญาณในเนื้อหาและไฮไลท์ในแต่ละบท
5. ปรับปรุงเนื้อหาในหนังสือให้สมบูรณ์
สิ่งที่อยากจะฝากถึง ผู้ที่ไม่ได้เป็นนักเขียนมืออาชีพ และอยากมีผลงานหนังสือเป็นของตัวเองบ้าง ควรเริ่มหรือควรเตรียมตัวอย่างไร
ถ้าไม่นับหนังสือแปลหรือหนังสืออธิบายการใช้ Platform แล้ว หากนักเขียนต้องการได้ยอดขายที่ดีในปัจจุบัน ผมคิดว่าน่าจะเลือกเขียนเรื่องเฉพาะทาง เช่น หนังสือแนะนำการขายหรือการตลาดที่เฉพาะเจาะจง เป็นต้นครับ
อย่างที่ผมได้บอกเล่าตั้งแต่ต้นว่า หากอยากเป็นนักรบ เราต้องกล้าที่จะเปิดตัวออกมาท้าทายท้าพิสูจน์ความสามารถและข้อจำกัดของตัวเอง ยิ่งแบ่งปันยิ่งได้พัฒนา
เริ่มเลยครับ เขียนเรื่องราวดี ๆ ที่เราเชี่ยวชาญ เมื่อเราตั้งต้นแล้ว เราก็ไปต่อได้แน่นอน ผมเองหลังจากได้เริ่มต้นแล้วจึงได้มีโอกาสได้ร่วมงานกับ Wish Book ทำให้ได้พัฒนาทักษะด้านการเขียนและพัฒนาความรู้อื่น ๆ อย่างต่อเนื่องอีกมากมาย บอกคำเดียวว่าเกินคุ้ม ต้องขอขอบคุณอาจารย์ที่สำนักพิมพ์วิชทุกท่านมากนะครับ ขอแสดงความนับถือจากใจจริงครับ