หนังสือ การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน

คุณสมบัติสินค้า:

หนังสือเล่มนี้สำหรับใช้เป็นหนังสืออ่านประกอบและอ่านเสริมในรายวิชาการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี และอ่านเสริมสำหรับวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ชั้นสูงในระดับปริญญาโทและเอก

หมวดหมู่ : หนังสือ(Book)

Share

คำนำ
 
หนังสือ “การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน” เล่มนี้ เขียนขึ้นเพื่อใช้เป็นหนังสืออ่านประกอบและอ่านเสริมในรายวิชาการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี และอ่านเสริมสำหรับวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ชั้นสูงในระดับปริญญาโทและเอก คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี รวมถึงนักศึกษาปริญญาตรี โท และเอก ของทุกสถาบันที่กำลังศึกษาหรือสนใจเกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติงานหรือการจัดการผลการปฏิบัติงาน ตลอดจนนักทรัพยากรมนุษย์ทุกคนที่สนใจและต้องการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน เนื่องจากความรู้ในด้านนี้ยังมีการเผยแพร่ไม่มากนักในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่พิมพ์เผยแพร่ในต่างประเทศและเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้นักศึกษาและผู้ที่สนใจมักประสบปัญหาด้านการอ่านหนังสือที่เป็นภาษาอังกฤษให้เข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง
 
หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นโดยการรวบรวมความรู้จากหนังสือ ตำรา และบทความวิจัยเกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานที่ใช้ในประเทศทางตะวันตก ซึ่งเป็นผู้นำทางการค้นคว้าวิจัยด้านการประเมินผลการปฏิบัติงาน ตลอดจนสอดแทรกผลการวิจัยที่ผู้เขียนได้ทำการศึกษาไว้ เพื่อให้นักศึกษามีความรู้เกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติงานที่ทันสมัยและเท่าทันกับความรู้ของชาวตะวันตก หนังสือการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานเล่มนี้ ผู้เขียนมีกรอบแนวคิดคือ
 
- ใช้เป็นหนังสืออ่านประกอบการเรียนวิชาการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานในหลักสูตรปริญญาตรี และวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ชั้นสูงของนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอก คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
 
- ผู้อ่านคือ นักศึกษาปริญญาตรีสาขาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงานหรือจะจบการศึกษา เพื่อนำไปทำงานในตำแหน่งด้านการจัดการหรือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่วนนักศึกษาปริญญาโทและเอกที่มีประสบการณ์ทำงานเพื่อนำไปทบทวนและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
 
- เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ควรมีประโยชน์ 2 ประการ คือ (1) เป็นองค์ความรู้หลักของวิชาการที่ผู้ศึกษาเรื่องประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานควรทราบ และ (2) เป็นความรู้ที่ผู้ศึกษาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้
 
- เนื้อหาที่ปรากฏในตำราเล่มนี้เป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลสำคัญสำหรับหัวข้อที่สนใจของผู้ศึกษาต่อไป
การนำเสนอเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนพยายามเขียนภาษาไทยและกำกับด้วยภาษาอังกฤษสำหรับคำศัพท์การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน ทั้งนี้ เนื่องจากผู้เขียนมีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยให้นักศึกษารู้จักและคุ้นเคยกับคำศัพท์ต่าง ๆ ที่ใช้ทั้งในหนังสือหรือตำราทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งจะทำให้เข้าใจความหมายได้ง่ายขึ้น เนื้อหาที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 14 บท ประกอบด้วย บทที่ 1 ประวัติความเป็นมาของการประเมินผลการปฏิบัติงาน บทที่ 2 สภาพแวดล้อมในการประเมินผลการปฏิบัติงาน บทที่ 3 วัตถุประสงค์ของการประเมินผลการปฏิบัติงาน บทที่ 4 วิธีการประเมินผลการปฏิบัติงาน บทที่ 5 อธิบายถึงขีดสมรรถนะ บทที่ 6 การออกแบบ แบบประเมินผลการปฏิบัติงาน บทที่ 7 มาตรฐานสำหรับการประเมินผลการปฏิบัติงาน บทที่ 8 กระบวนการในการตัดสินผลการประเมินผลการปฏิบัติงาน บทที่ 9 แหล่งข้อมูลการประเมินผลการปฏิบัติงาน บทที่ 10 เป้าหมายของผู้ประเมินผลการปฏิบัติงาน บทที่ 11 ปัญหาและความถูกต้องของการประเมินผลการปฏิบัติงาน บทที่ 12 การแจ้งข้อมูลย้อนกลับผลการปฏิบัติงาน บทที่ 13 การประยุกต์ใช้ผลประเมินการปฏิบัติงาน และบทที่ 14 ความท้าทายการประเมินผลการปฏิบัติงาน
 
“การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน” เป็นเรื่องที่นักวิชาการ นักวิจัย และนักปฏิบัติทางฝั่งตะวันตกทำการศึกษาและเผยแพร่ความรู้ไว้ในหนังสือและ/หรืองานวิจัยจำนวนมาก เนื้อหาความรู้หรือสาระสำคัญนอกเหนือไปจากหนังสือเล่มนี้ยังมีอีกมาก แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติงานมีนักวิชาการหลายคนนำเสนอในแง่มุมและบริบทต่าง ๆ การศึกษาเนื้อหาการประเมินผลการปฏิบัติงานจากนักวิชาการที่นำเสนอในแง่มุมที่ต่างกัน จะช่วยให้ผู้อ่านได้รับความรู้และมีความคิดเชิงสร้างสรรค์และวิพากษ์ต่อไป ดังนั้น การศึกษาเพิ่มเติมด้วยการอ่านทั้งหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษจากแหล่งต่าง ๆ จะช่วยให้ผู้อ่านมีความรู้ที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของการอ่านจากหนังสือหรือตำราต่อไป
 
หากนักศึกษาหรือผู้อ่านท่านใด อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วได้รับความรู้และมีมุมมองที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน ตลอดจนสามารถนำความรู้ไปถ่ายโอนหรือประยุกต์ในการทำงานก็นับว่าเป็นความสำเร็จตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้เขียน
 
 
รศ. ดร.กล้าหาญ  ณ น่าน
คณะบริหารธุรกิจ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ประวัติผู้เขียน
รองศาสตราจารย์ ดร.กล้าหาญ  ณ น่าน
สาขาวิชาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ประวัติการศึกษาและการทำงาน
รองศาสตราจารย์ ดร.กล้าหาญ  ณ น่าน เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จบปริญญาตรีด้านการจัดการทั่วไป (เกียรตินิยมอันดับ 1) สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปริญญาโทด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และปริญญาเอกด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ทำงานในภาคเอกชนด้านการให้คำปรึกษาธุรกิจและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ประมาณ 3 ปี ก่อนเข้ามาทำงานที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และย้ายมาปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีตั้งแต่ พ.ศ. 2554

หัวข้อที่มีประสบการณ์การสอนหรือการทำวิจัยคือ พฤติกรรมองค์การ การประเมินผลการปฏิบัติงาน การบริหารผลการปฏิบัติงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  มีผลงานตีพิมพ์มากกว่า 30 เรื่อง ในวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูลสากล Web of Science และ Scopus เช่น International Journal of Organizational Analysis, Industrial and Commercial Training, International Journal of Quality & Reliability Management, Kybernetes, Journal of Open Innovation: Technology, Market, and Complexity, International Journal of Public Sector Performance Management, International Journal of Engineering Business Management เป็นต้น

ความมุ่งมั่นในการทำงานส่งผลให้ได้รับรางวัลนักวิจัยที่มีผลงานดีเด่นด้านผลงานวิจัยพื้นฐาน (RMUTT Outstanding Researcher in Basic Research) ที่มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติและนานาชาติดีเด่น สาขาสังคมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี พ.ศ. 2559, 2560-2563 และรางวัลผู้ที่มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่ปรากฏในฐานข้อมูลสากล Web of Science และ Scopus มากที่สุด พ.ศ. 2563

นอกจากนั้นยังเป็นศิษย์เก่าที่มีผลงานวิชาการดีเด่น พ.ศ. 2561 (Academy Outstanding Alumni) จากคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตลอดจนใน พ.ศ. 2555-2557 ได้รับเกียรติตั้งแต่งเป็น The Honorary Ambassador of HRD Korea in 2012-2014 from Human Resources Development Service of Korea

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้