หนังสือ การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน

คุณสมบัติสินค้า:

หนังสือเล่มนี้สำหรับใช้เป็นหนังสืออ่านประกอบและอ่านเสริมในรายวิชาการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี และอ่านเสริมสำหรับวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ชั้นสูงในระดับปริญญาโทและเอก

หมวดหมู่ : หนังสือ(Book)

Share

คำนำ
 
หนังสือ “การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน” เล่มนี้ เขียนขึ้นเพื่อใช้เป็นหนังสืออ่านประกอบและอ่านเสริมในรายวิชาการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี และอ่านเสริมสำหรับวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ชั้นสูงในระดับปริญญาโทและเอก คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี รวมถึงนักศึกษาปริญญาตรี โท และเอก ของทุกสถาบันที่กำลังศึกษาหรือสนใจเกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติงานหรือการจัดการผลการปฏิบัติงาน ตลอดจนนักทรัพยากรมนุษย์ทุกคนที่สนใจและต้องการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน เนื่องจากความรู้ในด้านนี้ยังมีการเผยแพร่ไม่มากนักในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่พิมพ์เผยแพร่ในต่างประเทศและเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้นักศึกษาและผู้ที่สนใจมักประสบปัญหาด้านการอ่านหนังสือที่เป็นภาษาอังกฤษให้เข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง
 
หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นโดยการรวบรวมความรู้จากหนังสือ ตำรา และบทความวิจัยเกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานที่ใช้ในประเทศทางตะวันตก ซึ่งเป็นผู้นำทางการค้นคว้าวิจัยด้านการประเมินผลการปฏิบัติงาน ตลอดจนสอดแทรกผลการวิจัยที่ผู้เขียนได้ทำการศึกษาไว้ เพื่อให้นักศึกษามีความรู้เกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติงานที่ทันสมัยและเท่าทันกับความรู้ของชาวตะวันตก หนังสือการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานเล่มนี้ ผู้เขียนมีกรอบแนวคิดคือ
 
- ใช้เป็นหนังสืออ่านประกอบการเรียนวิชาการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานในหลักสูตรปริญญาตรี และวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ชั้นสูงของนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอก คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
 
- ผู้อ่านคือ นักศึกษาปริญญาตรีสาขาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงานหรือจะจบการศึกษา เพื่อนำไปทำงานในตำแหน่งด้านการจัดการหรือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่วนนักศึกษาปริญญาโทและเอกที่มีประสบการณ์ทำงานเพื่อนำไปทบทวนและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
 
- เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ควรมีประโยชน์ 2 ประการ คือ (1) เป็นองค์ความรู้หลักของวิชาการที่ผู้ศึกษาเรื่องประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานควรทราบ และ (2) เป็นความรู้ที่ผู้ศึกษาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้
 
- เนื้อหาที่ปรากฏในตำราเล่มนี้เป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลสำคัญสำหรับหัวข้อที่สนใจของผู้ศึกษาต่อไป
การนำเสนอเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนพยายามเขียนภาษาไทยและกำกับด้วยภาษาอังกฤษสำหรับคำศัพท์การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน ทั้งนี้ เนื่องจากผู้เขียนมีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยให้นักศึกษารู้จักและคุ้นเคยกับคำศัพท์ต่าง ๆ ที่ใช้ทั้งในหนังสือหรือตำราทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งจะทำให้เข้าใจความหมายได้ง่ายขึ้น เนื้อหาที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 14 บท ประกอบด้วย บทที่ 1 ประวัติความเป็นมาของการประเมินผลการปฏิบัติงาน บทที่ 2 สภาพแวดล้อมในการประเมินผลการปฏิบัติงาน บทที่ 3 วัตถุประสงค์ของการประเมินผลการปฏิบัติงาน บทที่ 4 วิธีการประเมินผลการปฏิบัติงาน บทที่ 5 อธิบายถึงขีดสมรรถนะ บทที่ 6 การออกแบบ แบบประเมินผลการปฏิบัติงาน บทที่ 7 มาตรฐานสำหรับการประเมินผลการปฏิบัติงาน บทที่ 8 กระบวนการในการตัดสินผลการประเมินผลการปฏิบัติงาน บทที่ 9 แหล่งข้อมูลการประเมินผลการปฏิบัติงาน บทที่ 10 เป้าหมายของผู้ประเมินผลการปฏิบัติงาน บทที่ 11 ปัญหาและความถูกต้องของการประเมินผลการปฏิบัติงาน บทที่ 12 การแจ้งข้อมูลย้อนกลับผลการปฏิบัติงาน บทที่ 13 การประยุกต์ใช้ผลประเมินการปฏิบัติงาน และบทที่ 14 ความท้าทายการประเมินผลการปฏิบัติงาน
 
“การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน” เป็นเรื่องที่นักวิชาการ นักวิจัย และนักปฏิบัติทางฝั่งตะวันตกทำการศึกษาและเผยแพร่ความรู้ไว้ในหนังสือและ/หรืองานวิจัยจำนวนมาก เนื้อหาความรู้หรือสาระสำคัญนอกเหนือไปจากหนังสือเล่มนี้ยังมีอีกมาก แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติงานมีนักวิชาการหลายคนนำเสนอในแง่มุมและบริบทต่าง ๆ การศึกษาเนื้อหาการประเมินผลการปฏิบัติงานจากนักวิชาการที่นำเสนอในแง่มุมที่ต่างกัน จะช่วยให้ผู้อ่านได้รับความรู้และมีความคิดเชิงสร้างสรรค์และวิพากษ์ต่อไป ดังนั้น การศึกษาเพิ่มเติมด้วยการอ่านทั้งหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษจากแหล่งต่าง ๆ จะช่วยให้ผู้อ่านมีความรู้ที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของการอ่านจากหนังสือหรือตำราต่อไป
 
หากนักศึกษาหรือผู้อ่านท่านใด อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วได้รับความรู้และมีมุมมองที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน ตลอดจนสามารถนำความรู้ไปถ่ายโอนหรือประยุกต์ในการทำงานก็นับว่าเป็นความสำเร็จตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้เขียน
 
 
รศ. ดร.กล้าหาญ  ณ น่าน
คณะบริหารธุรกิจ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้