หนังสือ ธรรมะยามป่วยไข้

คุณสมบัติสินค้า:

เรื่องเล่าจากการทำงานของกลุ่มพระอาสานาม “คิลานธรรม” สู่วิถีแห่งการเยียวยาผู้ป่วยและญาติมิตร ด้วยหวังให้ผู้ป่วยได้ผ่อนคลายจากความทุกข์และความเจ็บปวด

หมวดหมู่ : หนังสือ(Book)

Share

คำนำผู้เขียน

พระสงฆ์กลุ่มอาสาคิลานธรรมนั้น ทำงานด้วยจิตอาสาไปเยี่ยมไข้ในโรงพยาบาลและสถานที่ต่าง ๆ และจัดกิจกรรมเรียนรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์และบุคคลทั่วไป ด้วยหวังเพียงว่า ผู้มีความทุกข์จักได้คลายจากความทุกข์และพัฒนาตนเองให้เป็นคนที่ “สุขง่าย ทุกข์ยาก” พร้อมเผชิญชีวิตตามความจริงที่ปรากฏอย่างเข้าใจโลกเข้าถึงธรรม สามารถเอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้คนรอบข้างด้วยความรักปรารถนาดี อันเป็นเหตุให้ความสุขแผ่ขยายออกไปสู่บุคคลอันเป็นที่รัก ครอบครัว และสังคม

การเยี่ยมไข้แต่ละครั้ง พระอาสาจะได้สัมผัสรับรู้ถึง “ทุกข์” จากผู้เจ็บไข้และญาติมิตร ได้ชวนกันสนทนาเพื่อเรียนรู้วิถีการใช้ชีวิตของแต่ละคนร่วมกัน ชวนกันทำความเข้าใจ “ทุกข์” ในขณะนั้น ๆ ว่าเป็นเพียง “ธรรม” ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกชีวิต และเนื่องกับชีวิตของมนุษย์ทุกคนที่ยังหลง ยึดถือ และคาดหวัง ตั้งแต่ลมหายใจแรกจนถึงลมหายใจสุดท้าย การทำความเข้าใจ “ทุกข์” อย่างตรงไปตรงมานับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราอยู่กับ “ทุกข์” ได้อย่างไม่เป็นทุกข์ และเข้าถึงสภาวธรรมที่ดีงามยิ่งขึ้น

กลุ่มอาสาคิลานธรรม ขออนุโมทนาสำนักพิมพ์เครือ CP เป็นอย่างยิ่งที่ได้จัดพิมพ์หนังสือ “ธรรมะยามป่วยไข้” ในครั้งนี้ หวังว่าการถ่ายทอดธรรมะและความรู้ผ่านเรื่องเล่าจากประสบการณ์ ตลอดจนข้อเขียนแสดงแง่คิดมุมมองของพระอาสาจักเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อ่าน และเพียงพอที่จะน้อมนำไปประยุกต์ใช้ในการดูแลตนเองและบุคคลอันเป็นที่รัก ทั้งผู้ที่กำลังเจ็บไข้และผู้ที่ยังมีสุขภาพดี เพื่อให้การดำเนินชีวิตของทุกท่านเป็นไปอย่างมีคุณค่าและมีความสุข พร้อมกันนี้อาจใช้เป็นคู่มือเล่มน้อยสำหรับการเตรียมตน เพื่อเผชิญกับความไม่แน่นอนของชีวิตที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลาและกับทุกคน

สุดท้ายนี้ขอแผ่บุญและอุทิศกุศลให้แก่เจ้าของเรื่องเล่าทุกเรื่องราว ตลอดจนผู้มีส่วนสร้างสรรค์และเป็นเหตุปัจจัยต่อการเกิดขึ้นของหนังสือเล่มนี้ ขอท่านทั้งหลายเหล่านั้นจงมีความสุข มีความเจริญก้าวหน้า มีความงอกงามไพบูลย์ตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ
                   

                                                                             พระสงฆ์ กลุ่มอาสาคิลานธรรม

....................................................................

สารบัญ
เรื่องเล่าข้างเตียง

๑. เรียนรู้ธรรมะ ผ่านความเจ็บไข้
๒. ดูแลใจผู้ป่วย เริ่มที่ใจสงบ
๓. เจ้ากรรมนายเวร
๔. เวลาที่เหลือ
๕. ที่พึ่งสุดท้าย
๖. ปวดกาย ใจสงบเย็น
๗. จากกันด้วยใจผ่องใส
๘. ทุกวินาทีสำคัญ
๙. บุญอยู่ตรงไหน
๑๐. เตรียมก่อน ถึงเวลาที่ต้องไป
๑๑. เมื่อความตายอยู่ปลายเตียง
๑๒. ถึงเวลา มาดูแลกัน

สร้างกำลังใจในวันที่ต้องดูแลผู้ป่วย

๑. ผมพร้อม...
๒. อย่าลืมขอบคุณตัวเอง
๓. กลัว
๔. รักแท้ดูแลกัน
๕. รักของแม่
๖. เกื้อกูลกันตามเหตุปัจจัย

นานาสาระธรรม

๑. การดูแลด้วย “เสียง”
๒. ผมกลัวผีครับ
๓. เพื่อพระอาจารย์
๔. บ่งหนามวาเลนไทน์

หนังสือ “ธรรมะยามป่วยไข้” จัดพิมพ์ในขนาดรูปเล่มกระทัดรัด พิมพ์สี่สีทั้งเล่ม จำหน่ายในราคา ๒๙ บาท ณ ร้านเซเว่นอิเลฟเว่น หรือ สั่งซื้อผ่าน ALL ONLINE จ่ายและรับสินค้าที่ร้าน เซเว่นอีเลฟเว่น ทั่วประเทศ ส่งฟรี !

 

“คิลานธรรม” มาจากคำว่า “คิลาน” และ “ธรรม”  
“คิลาน” แปลว่า ความเจ็บไข้, ผู้เจ็บไข้ หรือผู้ป่วย 
“ธรรม” แปลว่า ธรรมชาติ, พระธรรม, แนวปฏิบัติอันดีงาม
“คิลานธรรม” จึงมีความหมายว่า ธรรมะสำหรับผู้เจ็บไข้, แนวปฏิบัติอันดีงามสำหรับผู้ป่วย

คำว่า “คิลาน” หรือ “ความเจ็บไข้” เป็นอาการปรากฏจากโรคภัยที่รุมเร้าร่างกายและส่งผลกระทบต่อจิตใจ ซึ่งศัพท์ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า “ทุกข์” จำแนกออกเป็น ๒ อย่าง คือ ทุกข์กาย ๑ ทุกข์ใจ ๑

ทุกข์กาย เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน การใช้ชีวิตไม่สมดุล ความเสื่อมของสังขาร* เมื่อความผิดปกติของร่างกายหรือโรคทางกายเกิดขึ้น ย่อมรู้สึกไม่สบายเจ็บปวดทรมานทางกาย (ทุกขเวทนา) ซึ่งมักมีผลต่อจิตใจด้วย คือ ทำให้เกิดความทุกข์ใจไปด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อความเจ็บไข้ทางร่างกายได้รับการดูแลรักษาจนทุเลาหรือหายจากโรคภัยนั้น ๆ จิตใจก็จะกลับมาดีขึ้นไปด้วย

ทุกข์ใจ เกิดจากภาวะทางจิตใจที่ไม่สมปรารถนา ไม่อยากได้กลับได้ อยากได้กลับไม่ได้ ความพลัดพรากสูญเสีย เป็นความคับแค้น บีบคั้น อึดอัด เศร้าโศก ร่ำไรรำพัน (โทมนัสเวทนา) และความทุกข์ใจนี้ก็เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์กายได้เช่นกัน

เพราะร่างกายและจิตใจเป็นองค์ประกอบของชีวิตที่มีความสัมพันธ์กัน การดูแลจิตใจสามารถทำให้ร่างกายดีขึ้นได้ การดูแลร่างกายก็สามารถทำให้จิตใจดีขึ้นได้ แต่เมื่อร่างกายยังคงเสื่อมสลายไปตามธรรมดาธรรมชาติ การพัฒนาและดูแลจิตใจให้เป็นอิสระจากร่างกายที่เสื่อมโทรมไปทุกขณะนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ

เมื่อมีผู้เจ็บไข้คนหนึ่ง นอกจากความทุกข์กายทุกข์ใจจะเกิดขึ้นกับผู้นั้นแล้ว ความทุกข์ใจก็ยังเกิดขึ้นกับญาติมิตรพี่น้องอันเป็นที่รักของผู้นั้นด้วย แม้ไม่ได้เจ็บป่วยทางกายแต่ก็ต้องเจ็บปวดทางใจ ความทุกข์ใจจึงเป็นสาธารณะสำหรับทุกคน การดูแลรักษาผู้เจ็บไข้จึงต้องใส่ใจและให้ความสำคัญทั้งมิติทางร่างกาย จิตใจ และสังคมไปพร้อมกันด้วย  

คิลานธรรม ทำอะไร

กลุ่มอาสาคิลานธรรม โดยพระสงฆ์และคฤหัสถ์อาสาสมัครเล็งเห็นความทุกข์ใจที่เกิดขึ้นจากความเจ็บไข้ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและที่อื่น ๆ แม้กระทั่งญาติมิตรผู้เฝ้าไข้ของผู้ป่วยเองก็มีความทุกข์ใจไม่น้อยเช่นกัน จึงอาสาสมัครเป็นผู้เยี่ยมไข้ในโรงพยาบาล เพียงหวังว่าผู้ป่วยและญาติจะได้รับกำลังใจบรรเทาความไม่สบายใจ ความทุกข์ใจให้ผ่อนคลายลงด้วยการสนทนาธรรมตามสมควร โดยมีหัวข้ออยู่ในใจกันว่า “รักษาใจอย่างไร ในยามเจ็บป่วย”

ดังที่กล่าวว่า “ความทุกข์ใจเป็นสาธารณะในทุกคน” พระอาสาคิลานธรรมจึงได้ชวนผู้ป่วย ญาติมิตรผู้เฝ้าไข้ แพทย์ พยาบาล และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมสนทนาและเรียนรู้การดูแลรักษาจิตใจในยามเจ็บไข้หรือในยามทุกข์ใจในมิติและบทบาทของตนเองไปด้วยกัน เป็นการเรียนรู้และการภาวนาที่ไม่จำกัดเฉพาะกับผู้ป่วยเท่านั้น

คิลานธรรม ทำอย่างไร

พระอาสาคิลานธรรมใช้กระบวนการสนทนาธรรม (ธัมมัสสากัจฉา) หรือกระบวนการปรึกษาแนวพุทธ ชวนผู้ป่วยและญาติสนทนาบอกเล่าเรื่องราวความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น พร้อมรับฟังด้วยความตั้งใจและจริงใจ รับรู้ถึงภาวะความบีบคั้นคับข้องใจที่เกิดจากความเจ็บป่วย ชวนผู้ป่วยและญาติร่วมสำรวจความทุกข์ใจ ชวนมองดูสาเหตุและหาทางออกร่วมกัน ชวนให้เจริญกุศลในใจเพื่อเอาไว้เป็นที่พึ่งของตน พร้อมทั้งเสริมกำลังใจให้มีพลังในการดำรงชีวิตอยู่ด้วยตนเอง และสามารถเผื่อแผ่ความรู้สึกดีงามแก่ญาติหรือคนใกล้ชิดได้

งานอาสาสมัครเยี่ยมไข้มี ๒ ลักษณะ คือ

๑. การเยี่ยมไข้ข้างเตียงสนทนากับผู้ป่วยโดยตรง โดยมีพยาบาลหรือญาติแนะนำให้รู้จัก จากนั้นพระอาสาสมัครก็ชวนผู้ป่วยสนทนาตามสมควรแก่เวลา 

๒. การสนทนาที่มีหลายคนอยู่ร่วมกัน เช่น ผู้ป่วย ญาติมิตร พยาบาล หรือครอบครัว การสนทนากลุ่มทำให้ผู้ร่วมสนทนาสามารถแลกเปลี่ยนแนวคิดวิธีการในการดูแลตนเอง ได้แง่คิดมุมมองที่หลากหลาย และเป็นพื้นที่ของการให้กำลังใจและเข้าใจกันและกัน ปัจจุบันงานทั้ง ๒ ลักษณะ มีรูปแบบออนไลน์ด้วย

คิลานธรรม คือใคร

กลุ่มอาสาคิลานธรรม เป็นการรวมตัวของพระนิสิตสาขาวิชาชีวิตและความตายและพุทธจิตวิทยา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และพระสงฆ์ที่สนใจมิติการดูแลจิตใจและบ่มเพาะปัญญา ซึ่งมีความปรารถนาเกื้อกูลสงเคราะห์ผู้คนทางด้านจิตใจและปัญญาผ่านความเจ็บป่วยและความทุกข์ใจ เพื่อตอบแทนสังคมที่อยู่ร่วมกัน เพื่อพัฒนาตนให้เข้าใจธรรมะและชีวิตยิ่งขึ้น และเพื่อใช้ความรู้ที่ศึกษามานั้นให้เป็นประโยชน์แก่หมู่ชน

โดยเริ่มจากการเป็นพระอาสาสมัครเยี่ยมไข้ตามโรงพยาบาลมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๑ และจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการภาวนาและการให้การปรึกษาแนวพุทธ อาทิ กิจกรรมภาวนาเพื่ออุทิศกุศลแด่ผู้ล่วงลับอันเป็นที่รัก การอบรมบุคลากรทางการแพทย์ การถวายความรู้พระสงฆ์ด้านการดูแลเยียวยาจิตใจผู้ป่วยและญาติมิตร คลินิกรักษ์ใจ (ออนไลน์) คิลานธรรมออนไลน์ คิลานธรรมคลับเฮาส์ 

คิลานธรรม อยากบอก (เล่า) อะไร

การได้เรียนรู้มิติของการดูแลจิตใจในยามเจ็บป่วย ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มของความเจ็บไข้จนถึงระยะสุดท้ายก่อนการจากลา และบ่อยครั้งก็ต้องเผชิญกับความพลัดพรากที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า เป็นโอกาสสำคัญของการศึกษาเรียนรู้ธรรมะและสัมผัสกับสภาวธรรมที่ปรากฏขึ้นจริงจากผู้คนที่กำลังเจ็บไข้ จากเพื่อนมนุษย์ที่กำลังทุกข์ทรมานกายและใจ เป็นช่วงเวลาแห่งการเชื่อมโยงและหลอมรวมหลักธรรมความรู้สู่ภาคปฏิบัติการอย่างแท้้จริง และยังเป็นวินาทีสำคัญของการบ่มเพาะความงอกงามทางจิตใจและสติปัญญาด้วย

ผู้ป่วย คนเจ็บไข้ ผู้กำลังทุกข์ใจทุกคน จึงเป็นดังครูผู้สอนธรรม ให้ได้ตระหนักถึงความไม่เที่ยงของสังขาร ** ความไม่แน่นอนของชีวิต นำพาสู่ความไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต การใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าในเวลาที่เหลืออยู่ และการบำเพ็ญประโยชน์สมแก่ฐานะที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ของพระอาสาคิลานธรรมทุกคน

………………………………………
*   สังขาร   = ร่างกาย 
**  สังขาร  = สิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง, สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัย เป็นรูปธรรมก็ตาม นามธรรมก็ตาม ได้แก่ ขันธ์ ๕, ตรงกับคำว่า สังขตะ หรือสังขตธรรม ได้ในคำว่า “สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง”

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้