หนังสือ เส้นทางสู่เซน (The Road to Zen)

คุณสมบัติสินค้า:

ความเป็นจริง ความว่าง และการเข้าใจถึงสภาวะแห่งธรรมชาติด้วยการขบคิดทางปัญญา

หมวดหมู่ : หนังสือ(Book)

Share

เส้นทางสู่เซน THE ROAD TO ZEN

“จิตสงบ ขบปัญญา พิจารณาธรรม”

 




คำนิยม


          พระพุทธศาสนานิกายเซนที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ประเทศญี่ปุ่นในยุคหนึ่ง ก่อนจะคลี่คลายซึมแทรกเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต วิถีวัฒนธรรมและศิลปะที่หาดูหาชมได้ทั่วไปในญี่ปุ่นในเวลานี้นั้น มีร่องรอยสืบมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล และมาปรากฏเป็นตัวเป็นตนชัดเจนขึ้นเมื่อท่านโพธิธรรมนำพาพระพุทธศาสนาในรูปแบบนี้ (แบบนี้ คือ แบบไหน หาคำตอบได้ในเล่มนี้) มาเผยแผ่ในผืนแผ่นดินจีน ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “ฌาน” ก่อนจะแพร่หลายเข้าสู่ญี่ปุ่นและกลายเสียงมาเป็น “เซน” อย่างที่เรารู้จักกันอยู่ในปัจจุบัน


          อัตลักษณ์ของพระพุทธศาสนานิกายเซน ย่อมขึ้นอยู่กับคำจำกัดความง่ายๆ ที่ว่า

          “เซนคือ...การถ่ายทอดพิเศษนอกคัมภีร์

          ไม่อาศัยคำพูดและตัวอักษร

          ชี้ตรงไปยังจิตของมนุษย์

          เพื่อเห็นแจ้งจิตเดิมแท้ และลุถึงพุทธภาวะ”

                  

          ต่อมาพระพุทธศาสนานิกายเซนได้เผยแผ่จากญี่ปุ่นออกไปสู่โลกตะวันตก ปรากฏว่าถูกจริตกับปัญญาชนชาวตะวันตกเป็นอย่างยิ่งจนคำว่า “NOW” หรือ “อยู่กับปัจจุบัน” Here and Now เป็นที่รู้จักไปทั่วในหมู่คนรุ่นใหม่ในสังคมอเมริกันและยุโรป

          ในสังคมไทยของเราเอง พระพุทธศาสนานิกายเซน เข้ามาพร้อมกับนักปราชญ์ฝ่ายจีนหลายท่านที่มาตั้งหลักปักฐานในประเทศไทย แต่มาเป็นที่รู้จักจริงๆ ก็โดยการขวนขวายอธิบาย ตีความของท่านพุทธทาสภิกขุ และนายแพทย์ตันม่อเซี้ยง ที่ได้นำเอาแก่นธรรมคำสอนแบบเซนมาถ่ายทอดออกเป็นปริศนาธรรมไว้ที่สวนโมกขพลารามผ่านโรงมหรสพทางวิญญาณ ผ่านการเทศน์ การสอน และการเขียนเป็นหนังสืออีกหลายเล่ม

          หากเราเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นในทุกวันนี้ก็จะเห็นอิทธิพลของพระพุทธศาสนานิกายเซนอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง ตั้งแต่สนามบิน อาคาร สถานที่ ป้ายร้านค้า การออกแบบผลิตภัณฑ์ ภัตตาคาร บทเพลง ภาพยนตร์ การ์ตูน เสื้อผ้าอาภรณ์ การจัดสวน หรือแม้แต่ในสัญลักษณ์ของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพในปีนี้ (๒๕๖๔) หรือแม้กระทั่งบนการออกแบบสมาร์ตโฟนรุ่นล่าสุดของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี ก็ยังมีอิทธิพลของเซนปรากฏอยู่

          สตีฟ จ็อบส์ อดีตผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิล ผู้รังสรรค์นวัตกรรมเปลี่ยนโลกในยุคสมัยของเรา ก็ชอบศึกษาพระพุทธศาสนาแบบเซนมาก ก่อนจะเสียชีวิตเพียงสองปี เขาเดินทางไปทบทวนความหลังอีกครั้งหนึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นพร้อมกับครอบครัว คราวนั้นเขาเอ่ยออกมาว่า หากไม่ได้มาเป็นนวัตกรอย่างทุกวันนี้ เขาก็คงจะบวชเป็นพระเซน ย้อนไปหลายสิบปีก่อนหน้านั้นตอนที่เขาแต่งงาน ก็มีพระเซนที่เขาเคารพนับถือเป็นผู้ประกอบพิธีแต่งงานให้ด้วย

          พระพุทธศาสนานิกายเซนแผ่อิทธิพลไปทั่วโลก กระจายอยู่ทั่วไปในทุกวงการอย่างที่กล่าวมาแล้ว ย่อมแสดงว่า พระพุทธศาสนาในลักษณาการที่ว่ามานี้ ต้องมีอัจฉริยลักษณ์บางประการที่น่าสนใจเป็นกรณีพิเศษ และถ้าหากเราสงสัยใคร่รู้ต่อไปว่า แล้วอัจฉริยลักษณ์เช่นว่านั้นคืออะไร ?

          หนังสือ The Road to Zen ที่เขียนโดยพระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระสุธีรัตนบัณฑิต ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย น่าจะให้คำตอบต่อนั้นเป็นอย่างดีง

          แม้พระพุทธศาสนานิกายเซนจะมีบางแง่บางมุมที่ดูเหมือนลึกลับซับซ้อนอยู่บ้าง แต่เมื่อเรื่องราวเหล่านั้นถูกนำมาบอกเล่าผ่านปลายปากกาของพระนักเขียน ผู้มีภูมิหลังเป็นนักวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ เรื่องยากแค่ไหน ก็กลายเป็นเรื่องที่ใครต่อใครก็ “เคี้ยว” ได้โดยไม่ยากอีกต่อไป

          เมื่อผู้เขียนเองได้อ่านต้นฉบับหนังสือเล่มนี้ทั้งจากที่พิมพ์เผยแผ่ผ่านทางหน้าเฟซบุ๊กและจากต้นฉบับที่ส่งมาให้อ่าน มีบางบท บางตอน ที่เผลออ่านไปยิ้มไปในมุมมองที่ชวนคิด ชวนขำ และชวนคมของท่านผู้เขียนที่ช่างสังเกตและช่างตีความได้อย่างแหลมคม ชนิดที่ผู้เขียนเองซึ่งแม้จะเข้าออกญี่ปุ่นเป็นว่าเล่นเหมือนกันด้วยกิจกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและการทำงานด้านสันติภาพกับหลายองค์กรในประเทศญี่ปุ่น ก็ยังคิดไปไม่ถึง มองได้ไม่ลึกและแหลมคมเท่า หรือบางเรื่องก็แทบไม่เคยมองในมุมนั้นๆ เสียด้วยซ้ำไป ต้องอาศัยผู้ที่มีสายตาแหลมคมแบบท่านเจ้าคุณพระสุธีรัตนบัณฑิตเท่านั้น จึงจะสามารถ “มองเซนเห็นญี่ปุ่น” ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ เชื่อเหลือเกินว่า เราจะมองญี่ปุ่น วัฒนธรรมญี่ปุ่น คนญี่ปุ่น รวมทั้งวัดญี่ปุ่นด้วยสายตาที่แปลกออกไปจากเดิมอย่างแน่นอน

 


พระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี)

ผู้อำนวยการศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน

UNHCR PATRON

10 พฤษภาคม 2564

 
....................................................................

 
คำนำผู้เขียน


          ในปี 2549-2550 ผู้เขียนในฐานะพระธรรมทูตไทย ได้รับโอกาสให้ไปปฏิบัติศาสนกิจ ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยได้เข้าพักอาศัยที่ศูนย์วิปัสสนาย่านโคอิวะ (Koiwa) ชานเมืองโตเกียว (Tokyo) ซึ่งญาติโยมคนไทยที่ทำงานในญี่ปุ่นจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ไหว้พระสวดมนต์ ปฏิบัติธรรม และเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ป้าแต๋ว (คุณเมธินี อิกุสะ) ประธานศูนย์อุปถัมภ์ศูนย์วปัสสนาโคอิวะ (Koiwa Tokyo) ได้นิมนต์พระภิกษุจากวัดต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัดหมุนเวียนมานำญาติโยมไหว้พระสวดมนต์และประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา
 
          ในช่วงแรกที่ผู้เขียนไปอยู่ที่ญี่ปุ่นนั้น อาศัยญาติโยมทั้งหลายพาไปเที่ยวชมวัด บ้าน สถานที่ท่องเที่ยวและพาไปพบกับพระเถระผู้ทรงภูมิปัญญาของญี่ปุ่นหลายท่าน ซึ่งทำให้ผู้เขียนมีโอกาสได้รับความรู้ แนวปฏิบัติในวิถีเซนจากการสนทนาของท่านเหล่านั้น ต่อมาเมื่อสามารถเดินทางในญี่ปุ่นด้วยตัวเอง จึงได้เดินทางไปยังวัดและสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาของญี่ปุ่น เพื่อเรียนรู้และร่วมปฏิบัติในวิถีเซน โดยมีการอ่านหนังสือเพิ่มเติม
 
          “การตามรอยธรรมในวิถีเซน” จึงเกิดขึ้นเพื่อเรียนรู้ว่า ในอดีตพระเถระ ผู้นำบ้านเมือง เหล่าซามูไร และชาวนา ท่านได้นำหลักการทางพระพุทธศาสนาแบบเซนไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างไร รวมถึงการรวบรวมพระไตรปิฎกและเขียนคัมภีร์ธรรมขึ้นมาใหม่ ซึ่งพบว่า พระเถระของญี่ปุ่นได้วางแนวปฏิบัติในวิถีเซนอย่างมากมาย โดยเฉพาะการเข้าถึงความเป็นจริง ความว่าง และการเข้าใจถึงสภาวะแห่งธรรมชาติด้วยการขบคิดทางปัญญา โดยมีแนวปฏิบัติที่สำคัญ คือ

             1. การนั่งสมาธิ (Zazen) ที่เรียกว่า มรรควิถีแห่งเซน

             2. การขบปริศนาธรรมแบบโกอาน (Koan) มรรควิถีแห่งชันเซน (Sanzen)

        3. การถามตอบธรรมะแบบฉับพลัน (Mondo) มรรควิถีแห่งมนโดที่เป็นการสนทนาธรรมระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์

          ผู้เขียนเรียกวิธีการทั้งสามว่า “จิตสงบ ขบปัญญา พิจารณาธรรม” แนวปฏิบัติของวิถีเซนดังกล่าวได้มีบทบาทและอิทธิพลต่อสังคม ทั้งในเรื่องของความซื่อสัตย์ ความสุจริต ความรับผิดชอบ การให้ความสำคัญกับความเสมอภาค ความยุติธรรมในสังคม โดยเฉพาะความละเอียดอ่อนในการคิดและการสร้างสรรค์ จนทำให้ญี่ปุ่นเป็นต้นแบบของการออกแบบ การสร้างคิดยกกำลังสอง การพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่กับการรักษาวัฒนธรรมรวมอันดีงามบนพื้นฐานของความเป็นอยู่ที่เรียกว่า “เรียบ งาม ง่าย”

          สังคมวัฒนธรรมแต่ละแห่งนั้น ต่างก็มีทั้งจุดดี จุดเด่น ในขณะเดียวกันก็มีมุมมืดอยู่เสมอ สังคมญี่ปุ่นก็เช่นกันมีทั้งด้านดีและด้านลบ วิถีวัฒนธรรมแบบเซนมีส่วนสำคัญในการขัดเกลาสังคม ช่วยให้ผู้คนมีความละเมียดละไม เข้าใจตนเองและสัจธรรมมากขึ้น ท่ามกลางบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป วิถีพระพุทธศาสนาแบบเซนในญี่ปุ่นจะยังคงอยู่หรือไม่ และมีจิตวิญญาณแบบไหน หนังสือเล่มนี้จะอธิบายเรื่องราวเหล่านั้นตามที่ผู้เขียนได้รับความรู้และประสบการณ์มา ซึ่งเป็นเพียงทัศนะของผู้เขียนที่อาจจะมีถูกผิดหรือมีมุมมองที่แตกต่างไปบ้างเนื่องจากข้อจำกัดด้านภาษาและการรับรู้ของผู้เขียนเอง

          ขอกราบขอบพระคุณหลวงพ่อโยริโน แห่งวัดฮอนโจจิ เมืองโยโกฮาม่า ที่ท่านมีเมตตาอย่างสูงยิ่งต่อผู้เขียนเสมอ ไม่ว่าจะไปเยี่ยมกราบท่านคราวใด ท่านก็ให้ความเมตตาโดยตลอด ท่านยังเอื้อเฟื้อต่อคนไทยที่ไปกราบท่านเช่นกัน

          เจริญพรขอบคุณและอนุโมทนาคุณเมธินี  อิกุสะ (ป้าแต๋ว) ประธานศูนย์อุปถัมภ์ศูนย์วปัสสนาโคอิวะ (Koiwa Tokyo) และโยมท่านอื่นๆ เช่น คุณจิรา โอซาโกะ (โยมติ๋ม) คุณสุชิน (โยมสม วาสนา ราชบุรี) คุณเกษร  โกสุมา (โยมเกษร) เป็นต้น และคุณ Shimbo Isokun คุณ Akemi สองหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นในฐานะไกด์กิตติมศักดิ์ที่คอยให้ความรู้และแนะนำในการเดินทางในญี่ปุ่น ขออนุโมทนาคุณสุวรา นาคยศ และบริษัท โดฟ อิควิปเมนท์ แอนด์ แมชชีนเนอรี่ จำกัด ที่สนับสนุนการพิมพ์หนังสือเล่มนี้
     
          ขอความเป็นไปในโลกจงเป็นประดุจดั่งคำปรารภของพระสิริมังคลาจารย์ที่รจนาไว้ในนิคมคาถาจักวาฬทีปนีว่า  “ขอพระสัทธรรมคำสอนของพระโลกนาถส่องแสงตลอดกาลนาน ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งสิ้นจงเป็นผู้เลื่อมใสในพระศาสนา ขอฝนจงตกต้องตามฤดูกาล หลั่งอุทกธารโดยดี นำปฐพีไปสู่ความมั่งคั่ง รักษาพืชและสัตว์ที่เกิดบนแผ่นดินทุกเมื่อ ขอพระราชาทั้งหลายจงรักษาประชาชนโดยธรรม ประดุจมารดาบิดารักษาบุตรน้อยที่เกิดจากตนเป็นนิตย์เทอญ...”



พระสุธีรัตนบัณฑิต (สุทิตย์ อาภากโร)

วันที่ 1 พฤษภาคม 2564

 ....................................................................

 

สารบัญ

บทนำ

ดาบที่ 1     ถ้วยชาใบนั้น

ดาบที่ 2     ฟูจิชัง

ดาบที่ 3     เมื่อดอกซากุระบาน

ดาบที่ 4     มือ ไม้ จิต

ดาบที่ 5     ลิง 3 ตัว

ดาบที่ 6     รอยทางแห่งความว่าง

ดาบที่ 7     ดุลยภาพแห่งสวนเซน

ดาบที่ 8     หินก้อนนั้นที่หายไป

ดาบที่ 9     วงกลมแห่งจักรวาล

ดาบที่ 10   สายน้ำและจิตใจ

ดาบที่ 11   มารผจญ

ดาบที่ 12   วิ่งสู่อิสรภาพ

ดาบที่ 13   การเดินทางภายใน

ดาบที่ 14   เสียงแห่งความเงียบ

ดาบที่ 15   สภาวะแห่งเซน

ดาบที่ 16   การเฝ้าดูจิต

ดาบที่ 17   การละทิ้ง

ดาบที่ 18   เทพพันหน้ามายาแห่งจิต

ดาบที่ 19   วิถีดาบ วิถีเซน (มิยาโมโต้ มูซาชิ)

ดาบที่ 20   วิถีจิตปกติ (ทากุอัน)

ดาบที่ 21   ข้าฯ คือชาวนา

ดาบที่ 22   อิจิบัง

ดาบที่ 23   เปลือยตัว ปล่อยใจ

ดาบที่ 24   ซื้อของได้ใจ

ดาบที่ 25   วาดภาพสื่อใจ

ดาบที่ 26   ความไม่สมบูรณ์

ดาบที่ 27   ทางที่ใช่ (อิคิไก)

ดาบที่ 28   นกร้องเพลง

ดาบที่ 29   ความตายเบากว่าขนนก

ดาบที่ 30   คัมภีร์พเนจร

เอกสารอ้างอิง

ภาคผนวก

....................................................................

บทนำ


          พระภิกษุหนุ่มพึ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย ถูกท้าทายเพื่อไปเรียนรู้วิถีเซน พร้อมกับแสวงหาโอกาสในการอัญเชิญพระไตรปิฎกฉบับภาษาญี่ปุ่นกลับไทย โดยมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับวิถีชีวิต ภาษา วัฒนธรรม และพระพุทธศาสนานิกายเซนของญี่ปุ่นเพียงน้อยนิด จะมีก็เพียงความรู้ภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐานและกลุ่มญาติโยมคนไทยที่คอยประสานงาน ณ ศูนย์วิปัสสนาชานเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

          นี่คือ...บันทึกศิษย์โง่แบบไปเรียนเซนที่ญี่ปุ่นในยุค 2000

 

....................................................................

รายละเอียดหนังสือ

ชื่อหนังสือ : เส้นทางสู่เซน THE ROAD TO ZEN

ผู้เขียน : พระสุธีรัตนบัณฑิต (สุทิตย์ อบอุ่น)

ขนาด : 14.5 x 21 เซนติเมตร (A5)      

จำนวนหน้า : 318 หน้า

กระดาษเนื้อใน : กระดาษถนอมสายตา 70 แกรม พิมพ์ 4 สี

กระดาษปก : กระดาษอาร์ตการ์ด 260 แกรม พิมพ์ 4 สี

ราคา : 250 บาท

ISBN : 978-974-203-832-8

Barcode : 978-974-203-832-8

สำนักพิมพ์ : สำนักพิมพ์วิช

เดือนที่ออก : พฤษภาคม 2564

ประเภท : ธรรมะประยุกต์

จำนวนที่พิมพ์ : 4,500 เล่ม

จัดจำหน่าย : บริษัท วิช กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้