ชุดหนังสือ : ๘๒ ปี สุนทราภรณ์ อนุสรณ์ฝากไว้ (จำนวน ๘ เล่ม)

คุณสมบัติสินค้า:

เขียนโดย : คีตา พญาไท (ไพบูลย์ สำราญภูติ)

หมวดหมู่ : หนังสือ(Book)

Share

คำนำสำนักพิมพ์


เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ วงดนตรีสุนทราภรณ์ ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ จากการนำของ ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นวงดนตรีเพลงไทยสากลยุคแรกที่พัฒนามาจากดนตรีไทยแบบละครร้อง กับดนตรีสากลแบบตะวันตก ทำให้ บทเพลงสุนทราภรณ์ ที่สร้างสรรค์ มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ จนกลายเป็นวงดนตรียอดนิยมในยุคต่อ ๆ มา เฉพาะอย่างยิ่งบทเพลงสำหรับการลีลาศและรำวง

ในวาระครบรอบ ๘ ทศวรรษของ วงดนตรีสุนทราภรณ์ มูลนิธิสุนทราภรณ์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ คีตา พญาไท (อาจารย์ไพบูลย์ สำราญภูติ) ผู้มีความผูกพัน และเล็งเห็นความสำคัญของ วงดนตรีสุนทราภรณ์ และ สำนักพิมพ์วิช จึงได้จัดพิมพ์หนังสือทรงคุณค่าชุด “๘๒ ปี สุนทราภรณ์ อนุสรณ์ฝากไว้” รวมด้วยกัน ๘ เล่ม คือ

๑. พระเจ้าทั้งห้า ตำนานความเป็นมาของสุนทราภรณ์ ๒. เอื้อ สุนทรสนาน ดุริยกวีสี่แผ่นดิน ๓. ๑๐๐ เพลงดี ๑๐๐ ปี เอื้อ สุนทรสนาน ๔. แก้ว อัจฉริยะกุล อัจฉริยะคีตกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ๕. สุรัฐ พุกกะเวส ยอดขุนพล เพลงสุนทราภรณ์ ๖. ชอุ่ม ปัญจพรรค์ คีตกวีผู้สร้างสรรค์ บทเพลงรักหวาน อันแสนไพเราะ ๗. ศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ คีตศิลปิน ครูเพลง นักเลงกวี และ ๘. สุนทรียะมาร์เก็ตติ้ง กรณีศึกษา    เสรีเซ็นเตอร์ : สุนทราภรณ์

ผลงานการค้นคว้า ของ คีตา พญาไท ผู้รวบรวม เรื่องราว เกร็ด ประวัติ ของครูเพลงผู้ประพันธ์คำร้องและทำนอง นักร้อง นักดนตรี บทเพลง และความบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน เพลงสุนทราภรณ์ จนได้รับความนิยมจากผู้ฟัง ที่ร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่าและมีบทเพลงอันไพเราะ ที่แฝงด้วยปรัชญาแห่งชีวิตประกอบ ทำให้ผู้อ่านเห็นถึง อัจฉริยภาพ ของบรรดาคีตกวีและครูเพลง ประวัติศาสตร์ของวงการเพลงไทยสากล จาก  วงดนตรีสุนทราภรณ์ ที่เป็นผลงานเพลงอมตะมากกว่า ๒,๐๐๐ เพลง ซึ่งถือว่าเป็นผลงานเพลงอันทรงคุณค่าของชาติ ที่อนุชนรุ่นหลังควรได้ศึกษาและยกย่องสดุดีใน อัจฉริยภาพ ของ คีตกวี ครูเพลง ผู้รังสรรค์บทเพลงอมตะดังกล่าว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการวงการดนตรีของไทยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

สำนักพิมพ์วิช ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการส่งต่อเพื่อสืบสาน ตำนานเพลงอันเป็นอมตะ และ วัฒนธรรมสุนทราภรณ์ ที่ยอดเยี่ยมเป็นแบบอย่าง อันเป็นมรดกที่ยิ่งใหญ่ของไทย ให้ยืนยงคงอยู่ตลอดไป

ดังพระราชดำรัส ใน พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานแก่ วงดนตรีสุนทราภรณ์ และ ชาวคณะสุนทราภรณ์ เอาไว้ว่า

“...วงดนตรีสุนทราภรณ์ เป็นสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่เป็นของ เอื้อ สุนทรสนาน แต่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ขอให้ วงดนตรีสุนทราภรณ์ อยู่ยงต่อไป ด้วยความสามัคคี ด้วยความตั้งใจเชิดชูความดี และให้เป็นศิลปะ   โดยแท้...”
 


สำนักพิมพ์วิช

.........................................................................

จากใจ...

คีตา พญาไท
 

เมื่อคราวที่ได้ร่วมงานฉลอง ๖๐ ปี วงดนตรีสุนทราภรณ์ กับ คุณอติพร สุนทรสนาน เสนะวงศ์ ใน พ.ศ. ๒๕๔๒ นั้น ผมได้เสนอโครงการต่าง ๆ หลายโครงการ เพื่อทำให้งานมีความต่อเนื่อง และเป็นการหวนคืนกลับมาสู่ความยิ่งใหญ่ของ “วงดนตรีสุนทราภรณ์” อีกครั้งหนึ่ง

โครงการที่ได้นำเสนอ คือการจัดทำเทปเพลง ชุด “๖๐ เพลงดี ๖๐ ปี สุนทราภรณ์” ร่วมกับ ป.ต.ท. • การจัด คอนเสิร์ต รวมใจอาสากาชาด ถวายราชสดุดี : ๖๐ ปี สุนทราภรณ์ ร่วมกับ สำนักงานอาสากาชาด สภากาชาดไทย • การจัด คีตนิทัศน์ สุนทราภรณ์สดุดี : คีตกวีมหาจักรีบรมราชวงศ์ • สุนทราภรณ์สัญจร ไปที่เชียงใหม่ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ • สุนทราภรณ์สัญจร ไปที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และอื่น ๆ อีกหลายโครงการ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการในช่วงนั้น เช่น สุนทราภรณ์วิชาการ ร่วมกับ คณะศึกษาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย • โครงการจัดทำอนุสรณ์สถาน ครูเอื้อ สุนทรสนาน ที่ซอยสุจริต ๒ ถนนพระรามที่ ๕ • โครงการอนุสรณ์สถาน ครูเอื้อ สุนทรสนาน ที่สวนลุมพินี (กำลังดำเนินการอยู่ โดย นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานอำนวยการ) • สุนทราภรณ์คืนสู่เหย้า สถาบันการศึกษา • สี่เหล่าทัพ ฯลฯ

ที่สำคัญที่สุด คือการสังคายนาเนื้อเพลง โน้ตเพลงสุนทราภรณ์ทั้งหมด และการจัดทำหนังสือ ที่ระลึกครบรอบ ๖๐ ปี ของวงดนตรีสุนทราภรณ์ ฯลฯ

อันที่จริงแต่เดิมนั้น ทุกครั้งที่ วงดนตรีสุนทราภรณ์ มีงานหรือกิจกรรมพิเศษ เนื่องในวันครบรอบการก่อตั้งวง เช่น สุนทราภรณ์ ๓๐ ปี • สุนทราภรณ์ครึ่งศตวรรษ • ครบรอบ ๘๔ ปี ครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในการจัดทำบทจินตลีลา บทพิธีกร หนังสือที่ระลึก วงดนตรีสุนทราภรณ์ จะได้รับความกรุณาจาก คุณสุวัฒน์ วรดิลก ศิลปินแห่งชาติ ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวรรณกรรมโดยเฉพาะทุกครั้งไปเสมอมา

ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น วงดนตรีสุนทราภรณ์ เองก็ได้รับความปรารถนาดีจาก คุณศิริพงษ์ จันทร์หอม นักเขียนหนุ่มไฟแรง ผู้ประพันธ์ เพลงหยดน้ำเจ้าพระยา อันแสนไพเราะ อาสามาเป็นผู้ดำเนินโครงการจัดทำหนังสือดังกล่าวให้ โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก บริษัทวอร์เนอร์ แซปเพิล มิวสิค (ไทย) จำกัด ซึ่งเข้ามาดูแลเรื่องลิขสิทธิ์เพลงต่าง ๆ ของ วงดนตรีสุนทราภรณ์ อยู่ในขณะนั้นพอดี

แต่ด้วยเหตุที่ คุณศิริพงษ์ จันทร์หอม ผู้อาสาและทางวอร์เนอร์ฯ เอง มีกิจธุระติดพันมากมาย และคาดหมายกันว่าการจัดทำหนังสือดังกล่าวต้องใช้เวลาและการลงทุนเป็นจำนวนมาก อาจจะไม่คุ้มทุนจึงต้องพักรอไว้ก่อน

จวบจนย่างเข้า พ.ศ. ๒๕๔๕ นี้ เป็นปีที่ วงดนตรีสุนทราภรณ์ มีอายุครบ ๖๓ ปีพอดี ผมจึงได้เสนอโครงการจัดทำคอนเสิร์ต พระเจ้าทั้งห้า ตำนานความเป็นมาของสุนทราภรณ์ และการจัดทำหนังสือที่ระลึกในชื่อเดียวกันขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยอาสาจะเป็นผู้ค้นคว้า รวบรวม เรียบเรียง เรื่องราว เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับ วงดนตรีสุนทราภรณ์ ตลอดระยะเวลา ๖๓ ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมไปถึงการจัดทำละครโทรทัศน์เกี่ยวกับชีวประวัติของ ครูเอื้อ สุนทรสนาน และ วงดนตรีสุนทราภรณ์ ในคราวเดียวกันอีกด้วย

เมื่อได้ลงมือรวบรวม ข้อมูล เอกสาร หนังสือต่าง ๆ ของบุคคล เหตุการณ์ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ วงดนตรีสุนทราภรณ์ แล้ว จึงพบว่าเป็นงานที่หนักหนาสาหัสเอาการ เพราะข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่กระจัดกระจายหลายที่หลายแห่งและไม่มีความสมบูรณ์ในตัวเองเลย

บางเรื่องก็เป็นการบอกเล่า กล่าวขาน เขียนขึ้นจากความทรงจำหรือได้ยินได้ฟังต่อ ๆ กันมา บางเหตุการณ์ก็สอดคล้องต้องกัน บางเรื่องก็ขัดแย้งหรือไม่ตรงกัน และที่สำคัญก็คือ ผู้ที่เกี่ยวข้องหรืออยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ ก็ลาจากพวกเราไปอยู่บนสรวงสวรรค์กันหมดสิ้นแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น หน่วยราชการบางหน่วยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวเหล่านี้โดยตรง เช่น กรมประชาสัมพันธ์ และ อ.ส.ม.ท. กลับไม่มีข้อมูล เอกสาร ที่จะสามารถอ้างอิงได้เลย เพราะเหตุที่เกิดเพลิงไหม้เมื่อหลายปีที่ผ่านมา จึงต้องอาศัยเอกสาร หนังสือจากห้องสมุดต่าง ๆ เช่น หอสมุดแห่งชาติ • มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย • มหาวิทยาลัยศิลปากร • มหาวิทยาลัยมหิดล ห้องสมุดสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ รวมทั้งเอกสารต่าง ๆ จาก วงดนตรีสุนทราภรณ์ ฯลฯ เป็นหลัก

เมื่อเป็นดังนี้ ผมจึงได้พยายามค้นหา ศึกษาข้อมูล รายละเอียดต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในข้อจำกัดดังกล่าวข้างต้น และเห็นว่าบทความ ข้อเขียนของผู้ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ นั้น ล้วนมีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ หรือ ตำนาน เรื่องราวความเป็นมา จึงนำมาร้อยเรียงใหม่ให้น่าอ่านและเข้าใจง่ายขึ้น โดยจะไม่ไปแตะต้องหรือแก้ไขดัดแปลงข้อมูลเก่าใด ๆ ทั้งสิ้น เพื่อเป็นการยกย่อง เชิดชูเกียรติเจ้าของบทความหรือข้อเขียนชิ้นนั้น ๆ ให้เป็นที่ปรากฏ และจะได้เป็นแนวทางในการทำการค้นคว้า ศึกษา วิจัยต่อ ๆ ไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่า หนังสือ พระเจ้าทั้งห้า ตำนานความเป็นมาของสุนทราภรณ์ นี้ ยังมีข้อบกพร่องอยู่อีกมาก จึงยินดีและขอน้อมรับข้อแนะนำติติง เพื่อที่จะได้นำมาปรับปรุงแก้ไขให้มีความถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้นในการจัดทำครั้งต่อ ๆ ไป

หากจะมีความดีอยู่บ้าง ก็ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับ วงดนตรีสุนทราภรณ์ทุกคน ทั้งครูเพลงผู้ประพันธ์ทำนอง คำร้อง นักดนตรี นักร้อง ในอดีต ปัจจุบัน และที่สำคัญที่สุด คือ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้ให้กำเนิด วงดนตรีสุนทราภรณ์อันยิ่งใหญ่ ที่มีอายุยืนยาวของไทยวงนี้ คุณอาภรณ์ สุนทรสนาน คุณอติพร สุนทรสนาน เสนะวงศ์ คุณพูลสุข สุริยพงษ์รังษี ผู้ให้ความเห็นชอบและให้ความสนับสนุนในการจัดทำผู้ที่ให้ข้อมูล การสัมภาษณ์ รวมทั้งครอบครัวของผม คือ คุณสมใจ สำราญภูติ และลูก ๆ ทั้ง ๓ คน (เอ, โอ๊ค, อาร์ม) ที่ให้กำลังใจในการศึกษา ค้นคว้า รวบรวม เรียบเรียง จัดทำหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ และที่ลืมไม่ได้เลยก็คือ ท่านผู้อ่านที่เป็น แฟนสุนทราภรณ์ ทุกท่านที่ติดตามผลงานเพลงอันเป็นอมตะ
 


ด้วยความขอบคุณ และจิตคารวะ
คีตา พญาไท

 .........................................................................

 

รายละเอียดหนังสือ

ชื่อชุดหนังสือ : ๘๒ ปี สุนทราภรณ์ อนุสรณ์ฝากไว้ (จำนวน ๘ เล่ม)

 

ชุดหนังสือสุนทราภรณ์ เล่ม ๑

เล่มที่ ๑ : พระเจ้าทั้งห้า ตำนานความเป็นมาของสุนทราภรณ์

 

ชุดหนังสือสุนทราภรณ์ เล่ม ๒

เล่มที่ ๒ : เอื้อ สุนทรสนาน ดุริยกวีสี่แผ่นดิน

 

ชุดหนังสือสุนทราภรณ์ เล่ม ๓


เล่มที่ ๓ : ๑๐๐ เพลงดี ๑๐๐ ปี เอื้อ สุนทรสนาน

 

ชุดหนังสือสุนทราภรณ์ เล่ม ๔

เล่มที่ ๔ : แก้ว อัจฉริยะกุล อัจฉริยะคีตกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

 

ชุดหนังสือสุนทราภรณ์ เล่ม ๕

เล่มที่ ๕ : สุรัฐ พุกกะเวส ยอดขุนพล เพลงสุนทราภรณ์

 

ชุดหนังสือสุนทราภรณ์ เล่ม ๖

เล่มที่ ๖ : ชอุ่ม ปัญจพรรค์ คีตกวีผู้สร้างสรรค์ บทเพลงรักหวาน อันแสนไพเราะ

 

ชุดหนังสือสุนทราภรณ์ เล่ม ๗

เล่มที่ ๗ : ศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ คีตศิลปิน ครูเพลง นักเลง กวี

 

ชุดหนังสือสุนทราภรณ์ เล่ม ๘

เล่มที่ ๘ : สุนทรียะมาร์เก็ตติ้ง กรณีศึกษา เสรีเซ็นเตอร์ : สุนทราภรณ์

-------------------
ผู้เขียน : คีตา พญาไท (ไพบูลย์ สำราญภูติ)
ขนาด :  ๑๔.๕ x ๑๙.๕ เซนติเมตร
กระดาษเนื้อใน : กระดาษถนอมสายตา ๗๕ แกรม พิมพ์ ๒ สี (สีดำและสีผสม)
กระดาษปก :  อาร์ตการ์ด ๑๖๐ แกรม พิมพ์ ๔ สี เคลือบด้าน สปอต
ราคา :  ๘,๐๐๐ บาท
สำนักพิมพ์ : สำนักพิมพ์วิช
เดือนที่ออก : มิถุนายน ๒๕๖๔
ประเภท : ชีวประวัติและผลงาน
จัดจำหน่าย : บริษัท วิช กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้